การบริหารหนี้สิน

การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป เพราะบางครั้งเราอาจต้องใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและอนาคตแต่ยังมีเงินไม่พอในตอนนี้ เช่น บ้าน การทำกิจการส่วนตัว ซึ่งหลักการสำคัญในการตัดสินใจเป็นหนี้คือ ควรเลือกก่อหนี้ดีซึ่งได้แก่ หนี้ที่จะสร้างอนาคตหรือความมั่นคงระยะยาวและหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่พึงระวังซึ่งได้แก่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มหรือไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นต้น เพราะเมื่อเป็นหนี้แล้วเรามีหน้าที่ต้องใช้คืนเงินต้นรวมถึงดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ​ที่จะตามมาทั้งหมด​

 

หนี้ดี

 

หนี้ที่สร้างรายได้หรือสร้างความมั่นคงในอนาคต เช่น 

 

- หนี้สร้างอนาคต เป็นหนี้ที่ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น มีงานทำหรือมีโอกาสก้าวหน้าในงานมากขึ้น

- หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นหนี้ที่สร้างอาชีพให้แก่เราและทำให้เรามีโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น กู้เงินเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์มาทำงาน ซื้อเครื่องมือการเกษตร​

- หนี้เพื่อความมั่นคงระยะยาว เช่น การมีบ้านเป็นของตัวเองจะทำให้เราไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านแต่มาจ่ายค่าผ่อนบ้าน ทำให้มีทรัพย์สินส่วนตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปบ้านที่เราซื้อก็มักจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

หนี้พึงระวัง

 

หนี้ที่ไม่สร้างรายได้ในอนาคต เช่น 

 

- หนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นหนี้ที่สร้างความสุขเพียงชั่วคราว ไม่สมเหตุสมผลและไม่ได้สร้างรายได้หรือความมั่นคงให้แก่เราในระยะยาว
- หนี้ที่มีมากเกินกำลังจ่าย เช่น กู้เงินซื้อบ้านหรือรถที่แพงเกินไป กู้ซื้อคอนโดหลายแห่งพร้อมกัน ผ่อนไม่ไหวจนต้องขายหรือถูกยึดในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าหนี้ดีก็อาจเป็นหนี้พึงระวังได้

หนี้อันตราย

 

หนี้ที่เกิดจากการนำเงินไปใช้กับสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับเงินคืน หรืออาจเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงเป็นหนี้ที่ต้องละเว้นเด็ดขาด เช่น

 

- หนี้ที่เกิดจากการพนัน/เสี่ยงโชค

- หนี้ที่กู้ไปลงทุนผิดกฎหมาย เช่น แชร์ลูกโซ่

ข้อสังเกต

สัดส่วนการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน

นอกจากนี้ เมื่อคิดจะก่อหนี้ ต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการเงินที่ได้มาให้ดี เพื่อให้สามารถชำระคืนหนี้ได้ตรงตามเวลาและบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใจได้โดยไม่สร้างภาระ​จนเกินตัว ซึ่งรวมถึงการหาข้อมูลจากสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เพื่อใช้เปรียบเทียบหาสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการและได้รับสิทธิประโยชน์มากที่สุด และอย่าลืมอ่านสัญญารวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วนก่อนทำสัญญาสินเชื่อ​​