ผ่อนไม่ไหวทำอย่างไรดี

​​​​​​​หากกำลังอยู่ในสถานการณ์เงินไม่พอใช้หนี้ ขอให้ตั้งสติให้ดี แล้วค่อย ๆ พยายามหาทางแก้ไข ดังนี้

1. ไม่ก่อหนี้เพิ่ม 

เพื่อไม่ให้เงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

 

2. สำรวจพฤติกรรมการใช้เงิน

​อาจทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นและพอจะลด ละ เลิก ได้บ้าง เช่น เหล้า บุหรี่ หวย เที่ยวกลางคืน ของแบรนด์เนม

 

3. หารายได้เสริม

​จากความสามารถพิเศษที่มี เช่น ทำขนมขาย รับจ้างซ่อมแซมสิ่งของ ประกวดความสามารถชิงรางวัลต่าง ๆ​

 

4. ไม่ควรหนีหน้าเจ้าหนี้

​เพราะอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

แต่หากยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด อาจใช้วิธีเข้าไปหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อปรึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ขอลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดจนกว่าจะสามารถกลับไปชำระเงินในแบบเดิมที่เคยตกลงกันไว้

การรีไฟแนนซ์

 

คือ "การเปลี่ยนเจ้าหนี้"หรือการ "ปิดหนี้" จากเจ้าหนี้รายเดิมมาเป็นเจ้าหนี้รายใหม่ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์ เราควรคำนวณให้ดีก่อนว่าคุ้มหรือไม่ โดยเปรียบเทียบว่าเงินที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการที่ต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาสินเชื่อใหม่ทั้งหมด เช่น

   -  ค่าจดจำนองหลักประกัน

   -  ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน

   -  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำประกัน

   -  ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้เก่า ในกรณีที่ยุติการกู้ก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา

 

หากพบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง หรือเสียเวลาในการดำเนินการมาก แต่ช่วยให้ประหยัดเงินได้น้อย การใช้บริการผู้ให้สินเชื่อเดิมอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

Mortgage loading real estate property with loan money bank concept.

ตัวอย่าง เปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ กับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ เพื่อประเมินเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์


นาย ก ได้กู้เงินซื้อบ้านจากธนาคาร A เป็นเงิน 2,200,000 บาท โดยกู้มาแล้ว 2 ปี ขณะที่เงินต้นคงเหลือ 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่เดิมคือ 7% โดยนาย ก กำลังตัดสินใจว่าจะรีไฟแนนซ์ไปธนาคาร B ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (ให้สันนิษฐานว่าหลังจากหมดโปรโมชั่นแล้ว จะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเดิม) แต่นาย ก ต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 3% ของยอดคงค้าง เพราะเพิ่งจะกู้ไม่ถึง 3 ปี

1. การคำนวณดอกเบี้ยที่ประหยัดได้

  • เงินต้นคงค้าง ให้ดูว่าเงินต้นที่จะรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ประมาณเท่าไหร่ 
    จากตัวอย่างคือ 2,000,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ = อัตราดอกเบี้ยธนาคารเดิม หักอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใหม่จะให้  
    (7-3) =
    4%
  • จำนวนปีที่ธนาคารใหม่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ  สมมุติว่าธนาคารใหม่ให้อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี

 

จำนวนดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ = (เงินต้นคงค้าง x อัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ x จำนวนปีที่ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ)

(2,000,000 x 4% x 3) = 240,000 บาท

2. ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากรีไฟแนนซ์

 

1) ค่าปรับกรณีไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment fee) ที่ต้องจ่ายให้แก่ธนาคารเดิมหากผู้กู้ไถ่ถอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมักกำหนดระยะเวลาภายใน 3 ปีหรือ 5 ปีนับจากวันทำสัญญา

ยกตัวอย่างเช่น ในสัญญากำหนดว่าจะคิดค่าปรับในอัตรา 3% หากผู้กู้ไถ่ถอนก่อนกำหนดในระยะเวลา 3 ปีแรกนับจากวันทำสัญญา
หากผู้กู้ทำสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1 ม.ค. 2562 และจะไถ่ถอนสินเชื่อเพื่อย้ายไปธนาคารอื่นวันที่ 1 ม.ค. 2564 กรณีนี้ผู้กู้จะเสียค่าปรับเพราะไถ่ถอนก่อนครบ 3 ปี  โดยจะคำนวณค่าปรับจากยอดเงินต้นคงค้าง ณ วันที่ผู้กู้ไถ่ถอน

 

สมมุติว่า มียอดเงินต้นคงค้าง 2,000,000 บาท ดังนั้น ผู้กู้จะเสียค่าปรับ (2,000,000 x 3%) เท่ากับ 60,000 บาท

 

2) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขอสินเชื่อ เมื่อเราจะรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ ธนาคารก็จะคิดค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อใหม่ เช่น

  • ค่าประเมินหลักประกัน สมมุติว่าธนาคารใหม่เรียกเก็บเป็นเงิน 3,000 บาท 
  • ค่าจดจำนองหลักประกัน 1% ของยอดเงินกู้ (2,000,000 x 1%) = 20,000 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05%ของยอดเงินกู้ (2,000,000 x 0.05%) = 1,000 บาท

 

รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหากรีไฟแนนซ์  (60,000 + 3,000 + 20,000 + 1,000) = 84,000 บา

เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้นำมาเปรียบเทียบดูว่า ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการรีไฟแนนซ์กับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการรีไฟแนนซ์ รายการไหนสูงกว่ากัน

 

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ประหยัดได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสีย ในกรณีนี้จึงมีความคุ้มค่าที่จะรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารใหม่

 

แต่หากประเมินแล้วไม่คุ้มค่าที่จะรีไฟแนนซ์ เช่น ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย หรือค่าใช้จ่ายสูงกว่าดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ ผู้กู้อาจลองใช้วิธีเจรจากับธนาคารเดิมเพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยแทนการรีไฟแนนซ์ได้

เจรจาเจ้าหนี้

 

ลูกหนี้ควรติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น การขอปรับโครงสร้างหนี้ จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาเงินกู้เดิม ลูกหนี้จึงประสงค์ที่จะขอผ่อนปรนการชำระหนี้กับสถาบันการเงินตามความสามารถ โดยลูกหนี้ควรชี้แจงสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ให้สถาบันการเงินทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาอนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อไป

dtr

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องมีการทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม โดยข้อตกลงของสัญญานั้นจะขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างลูกหนี้และสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งอาจเป็นการตกลงเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่น เรื่องอัตราดอกเบี้ย หรือระยะเวลาการชำระหนี้

หากมีปัญหาที่หาทางออกในการแก้ไขหนี้ไม่ได้ สามารถโทรมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213