การแก้ไขหนี้บ้าน

ลักษณะหนี้บ้าน

 

หนี้บ้านส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวที่มีอายุตั้งแต่ 10-30 ปี วงเงินค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับระดับรายได้ อัตราดอกเบี้ยในช่วงแรกมักจะอยู่ในระดับต่ำ และค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยรวมอาจเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับวงเงินกู้ ลูกหนี้จึงควรใส่ใจบริหารจัดการหนี้บ้าน เพื่อให้สามารถปิดหนี้และเป็นเจ้าของบ้านได้โดยไม่เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

homeloan

การแก้ไขหนี้

 

1. ในการบริหารจัดการหนี้บ้าน ลูกหนี้ควรวางแผนรายรับ-รายจ่ายในระยะยาว หากเป็นไปได้ ลูกหนี้ควรประเมินแนวโน้มรายรับ-รายจ่ายของตนเองในช่วงเวลาที่นานกว่า 12 เดือน เนื่องจากหนี้บ้านเป็นภาระผูกพันระยะยาวที่มีวงเงินค่อนข้างสูง การวางแผนทางการเงินระยะยาวจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถปรับตัวได้อย่างทันเวลา นอกจากนี้ ลูกหนี้ควรพยายามผ่อนชำระเต็มจำนวนตามกำหนดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดเบี้ยปรับ และชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อมีกระแสเงินสดเข้ามา (เช่น เงินเดือน โบนัส หรือรายได้พิเศษนอกเหนือจากงานประจำ) เพื่อช่วยลดภาระหนี้ ทำให้ลูกหนี้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ลูกหนี้อาจพิจารณาขอเปลี่ยนสัญญา (refinance) สินเชื่อบ้านไปยังธนาคารอื่น ๆ หรือขอลดดอกเบี้ย (retention) จากธนาคารเดิม เพื่อช่วยลดภาระการผ่อนชำระลง ซึ่งส่วนมากการ refinance ทำได้ทุก ๆ 3 ปี สิ่งที่ลูกหนี้ต้องคำนึงถึงในการ refinance คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเปลี่ยนสัญญา และภาระดอกเบี้ยที่จะประหยัดได้จากการเปรียบเทียบรายจ่ายดอกเบี้ยของสัญญาใหม่กับสัญญาเก่า

 

2. ข้อแนะนำทางเลือกของลูกหนี้

สถานะลูกหนี้คำแนะนำประโยชน์ที่ได้รับ​

ลูกหนี้ปกติ
(ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน)

ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดลดลง โดยสามารถทำได้ทั้งกรณีจ่ายค่างวดเท่ากันทุกงวด ภายในระยะเวลาใหม่ที่สามารถชำระหนี้ได้ ตามรายได้ที่ลดลงเป็นเวลานาน

ขอผ่อนค่างวดแบบขั้นบันได (step up) โดยชำระในจำนวนที่ต่ำในปีแรกตามรายได้ที่ลดลง และจะทยอยจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นในปีหลัง ๆ ตามรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

- ขอเปลี่ยนสัญญา (refinance) โดยเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ปิดสินเชื่อกับเจ้าหนี้เดิมและย้ายไปใช้สินเชื่อกับเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขที่ดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น

- ขอตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ โดยเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อนำทรัพย์สินที่จำนองเป็นหลักประกันเข้าชำระหนี้ โดยราคาประเมินและมูลค่าของทรัพย์ที่ตีโอนชำระหนี้มีราคาที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

- กรณีมีสินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรกดเงินสด): ขอรวมหนี้กับหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดการจ่ายดอกเบี้ย และขยายเวลาการผ่อนชำระ ตามมาตรการสนับสนุนการรวมหนี้ ของ ธปท. โดย

       - หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจ่ายดอกเบี้ยไม่เพิ่มจากอัตราเดิม*

       - หนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล จะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับ อัตราสินเชื่อบ้าน** +ไม่เกิน 2% ต่อปี

     

     *ยกเว้นกรณีมีการรีไฟแนนท์บ้าน ให้เป็นไปตามธนาคารกำหนด

     **อัตราดอกเบี้ยบ้านภายหลังช่วงโปรโมชั่นการขาย

- ลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ลงให้สอดคล้องกับความสามารถผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้

- ช่วยให้ลูกหนี้ไม่เสียประวัติเครดิตบูโร

ลูกหนี้ที่เป็น NPL

กรณีต้องการผ่อนต่อ เพื่อเก็บทรัพย์ไว้

- ขอปรับโครงสร้างหนี้โดยขอให้สถาบันการเงินผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดที่ผ่อนเข้ามาไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น

- ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดลดลง โดยสามารถทำได้ทั้งกรณีจ่ายค่างวดเท่ากันทุกงวด ภายในระยะเวลาใหม่ที่สามารถชำระหนี้ได้ ตามรายได้ที่ลดลงเป็นเวลานาน 

- ขอผ่อนค่างวดแบบขั้นบันได (step up) โดยทยอยจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นในภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงในช่วงแรกและจะทยอยดีขึ้นในภายหลัง

- ขอตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ โดยเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อนำทรัพย์สินที่จำนองเป็นหลักประกันมาชำระหนี้ โดยประเมินราคาทรัพย์ให้เหมาะสม ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้

 

กรณีไม่สามารถผ่อนต่อไปได้ ต้องการปล่อยทรัพย์

- ขอตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ โดยประเมินราคาทรัพย์ให้เหมาะสม ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ 

- ขอเวลาโอนขายทรัพย์ที่เป็นหลักประกันให้บุคคลที่ 3 เพื่อนำเงินมาชำระหนี้

- เพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้ว่าจะผ่อนชำระหนี้เพื่อรักษาบ้านหลักประกันไว้หรือจะตีโอนบ้านที่เป็นหลักประกันเข้าชำระหนี้เพื่อลดภาระการผ่อนชำระหนี้

- ช่วยให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งเสียประวัติ เวลา และเงิน

3. ศึกษามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน : เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด ในรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในส่วนของสินเชื่อบ้านหลายธนาคารได้นำเสนอโปรแกรม refinance ซึ่งอาจทำให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ลูกหนี้สามารถศึกษามาตรการของสถาบันการเงินแต่ละแห่งได้ทางเว็บไซต์ หรือ call center ของสถาบันการเงินนั้น ๆ และทางเว็บไซต์ COVID-19 ของ ธปท. ตาม link