จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวทำยังไงได้บ้าง

จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวทำยังไงได้บ้าง

     แม้เราจะวางแผนชีวิตไว้ดีเช่นไร แต่ในบางจังหวะของชีวิต เราอาจเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถประเมินความสูญเสียในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านการเงินได้ ดังนั้น การโอนความเสี่ยงทางการเงินไปยังบริษัทประกันภัยเป็นการจัดการความเสี่ยงวิธีหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากความเสียหายและช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ด้วยการหาตัวช่วยร่วมรับผิดชอบความเสี่ยง

 

     ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันชีวิตเราต้องประเมินภาระรับผิดชอบที่มี ซึ่งก็คือจำนวนเงินที่ครอบคลุมภาระหนี้ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของคนในครอบครัวในวันที่ไม่มีเรา เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าเทอมลูกที่ยังเรียนไม่จบ ค่ารักษาพยาบาล จากนั้นตรวจสอบสินทรัพย์และความคุ้มครองทั้งหมดที่มีอยู่ เช่น สินทรัพย์ที่มีในปัจจุบัน สวัสดิการจากที่ทำงาน สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ว่าเพียงพอกับภาระหนี้และค่าใช้จ่ายดังกล่าวหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ก็อาจต้องทำประกันชีวิตที่มีทุนประกันชีวิตหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย (เงินที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเมื่อเราเสียชีวิต) ไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ เพื่อให้คนข้างหลังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาทางการเงิน

     นอกจากศึกษาทำความเข้าใจและเลือกความคุ้มครองหรือทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน คือ ความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน เพราะเบี้ยประกันชีวิตมักเป็นเงินก้อนใหญ่และเรามีหน้าที่ต้องชำระค่าเบี้ยอย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาหนึ่งตามสัญญา เราจึงควรเลือกซื้อประกันที่คุ้มค่า ตรงตามความต้องการ และจ่ายเบี้ยประกันได้ครบถ้วนตลอดอายุสัญญา อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งเราประสบปัญหาทางการเงินจนทำให้จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว ทางเลือกต่อไปนี้จะช่วยให้เรายังคงได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันชีวิต (ขึ้นอยู่กับประเภทและเงื่อนไขของกรมธรรม์) แม้เงื่อนไขอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างสำหรับบางกรณี

pay

 

1. ชำระเบี้ยประกันในระยะเวลาผ่อนผัน

 

     ผู้ซื้อประกันชีวิตหลายคนไม่ทราบข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ย 31 วันนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระเบี้ย ดังนั้น หากถึงกำหนดชำระแล้วยังมีเงินไม่เพียงพอ แต่จะสามารถหาเงินมาได้ครบจำนวนทันเวลาดังกล่าว การเลื่อนชำระตามกำหนดมาเป็นช่วงระยะเวลาผ่อนผันก็นับเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดี ซึ่งในระหว่างระยะเวลาผ่อนผันกรมธรรม์ยังคงมีผลบังคับ และถ้าระหว่างนั้นเราเสียชีวิต บริษัทจะหักเบี้ยประกันที่ยังไม่ได้จ่ายออกจากทุนประกันชีวิต สิ่งสำคัญคือ ต้องระวังไม่ปล่อยให้พ้นระยะเวลาผ่อนผัน ถ้าเลยเวลาแล้ว แต่กรมธรรม์ยังมีมูลค่าเวนคืน (คือ เมื่อชำระเบี้ยประกันตั้งแต่ 2 หรือ 3 ปี ขึ้นไป กรมธรรม์จะมี “มูลค่าเวนคืน” เป็นจำนวนเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ ซึ่งเราสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์เพื่อรับเงินค่าเวนคืนจากบริษัทได้ แต่จะทำให้ความคุ้มครองทั้งหมดสิ้นสุดลง) บริษัทจะนำมูลค่าเวนคืนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการไม่ชำระเบี้ยประกันของเรา เช่น เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จหรือเป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลาตามข้อ 5 หรือชำระเบี้ยอัตโนมัติตามข้อ 6 ที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่ถ้ากรมธรรม์ไม่มีมูลค่าเวนคืน กรมธรรม์จะขาดอายุและสิ้นผลบังคับ

 

2. ขอเปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกัน

 

     หากประเมินสถานการณ์แล้วว่า จะหาเงินก้อนมาชำระค่าเบี้ยรายปีไม่ทันระยะเวลาผ่อนผันตามข้อ 1 หรือเก็บเงินก้อนไม่สำเร็จ แต่ยังคงมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ การเปลี่ยนจากชำระเงินคราวเดียวเป็นก้อนใหญ่รายปี (ราย 12 เดือน) มาเป็นแบ่งชำระทุกเดือน ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็อาจเป็นทางออกให้เรา แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเมื่อรวมทุกงวดในรอบปีเดียวกันจะสูงกว่าการชำระเบี้ยเป็นรายปี ยิ่งแบ่งงวดการชำระมากเท่าไหร่ ค่าเบี้ยประกันโดยรวมจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงควรไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกันว่ายังมีวิธีที่จะหาเงินมาจ่ายเบี้ยให้ครบแบบรายปีได้อีกหรือไม่ ซึ่งในปีถัด ๆ ไปสามารถกลับมาจ่ายเบี้ยรายปีได้

 

3. ลดจำนวนเงินเอาประกันภัยลง

 

     หากมองไปในอนาคตแล้วเห็นว่าเบี้ยประกันที่จ่ายอยู่จะเป็นภาระที่มากเกินไปในระยะยาวหรือเห็นว่าจะชำระไม่ไหว การลดจำนวนเงินเอาประกันลงก็จะช่วยให้เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายลดลง โดยจำนวนเงินเอาประกันที่ขอลดต้องไม่ต่ำกว่าทุนประกันขั้นต่ำที่กำหนด และต้องไม่มีหนี้กับบริษัทประกันชีวิตนั้นขณะขอลดทุนประกัน

 

4. เปลี่ยนแบบกรมธรรม์

 

     เราสามารถขอเปลี่ยนแบบประกันภัยเป็นแบบอื่นตามที่บริษัทกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้ หากมีระบุไว้ในกรมธรรม์หรือได้รับความเห็นชอบจากบริษัท และหากมีส่วนต่างของเบี้ยประกันหรือเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ บริษัทจะคืนเงินให้หลังหักด้วยหนี้สินที่มี หรือเก็บเงินเพิ่มแล้วแต่กรณี แต่ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาก่อนว่าประกันแบบใหม่นั้นตรงตามความต้องการของตัวเองหรือไม่

 

5. เปลี่ยนเป็น “กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ” หรือเป็น “กรมธรรม์แบบขยายเวลา”

 

     หากคิดแล้วว่าจากนี้ไปจะต้องตัดรายจ่ายค่าเบี้ยประกันออกอย่างถาวรหรือไม่สามารถชำระได้อีก แต่ได้ชำระเบี้ยประกันจนมีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์และกรมธรรม์ยังมีผลบังคับ เรามีสิทธิขอเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จหรือเป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลา สำหรับทั้ง 2 วิธีนี้ ผู้เอาประกันจะไม่ต้องชำระเบี้ยประกันอีกต่อไป แต่ความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมที่แนบท้ายกรมธรรม์ก็จะสิ้นสุดลง ซึ่งบริษัทจะนำค่าเวนคืนกรมธรรม์มาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียวเพื่อซื้อกรมธรรม์ใหม่ ได้ 2 แบบที่เหมาะกับเรา คือ (1) ระยะเวลาเท่าเดิมแต่เงินเอาประกันลด เรียกว่ากรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หรือ (2) เงินเอาประกันเท่าเดิม ระยะเวลาลด เรียกว่ากรมธรรม์ขยายเวลา (คือขยายเวลาต่อไปจากวันที่ใช้สิทธิ ตามจำนวนปีและวันที่ระบุ)

 

6. นำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ

 

     เมื่อถึงกำหนดวันสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันชำระเบี้ยประกัน แล้วยังไม่ได้จ่ายเบี้ยประกัน และไม่ได้ใช้สิทธิตามข้อ 5 บริษัทจะนำมูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์มาชำระเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติในลักษณะของการกู้ยืม ซึ่งคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในกรมธรรม์และบวกเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 2 ต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าถ้ามูลค่าเวนคืนเพียงพอจ่ายเบี้ยประกัน บริษัทจะกู้ยืมไปเรื่อย ๆ ทุกปี จนกว่ามูลค่าจะเหลือไม่พอ แต่ถ้ามูลค่าเวนคืนไม่พอจ่ายเบี้ยประกัน บริษัทจะแปลงกรมธรรม์เดิมเป็น “กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ” หรือ “กรมธรรม์แบบขยายเวลา” (ข้อ 5) โดยอัตโนมัติ ส่วนการชำระคืนเงินกู้นั้น สามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้ภายหลังพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์

 

การประกันภัยเป็นตัวช่วยในการลดความเสี่ยง แต่อย่าให้เป็นภาระ ถ้าเกิดปัญหาทางการเงินและทำให้ประกันต้องสิ้นสุดความคุ้มครองก็น่าเสียดาย และหากเราเกิดสะดุดขึ้นมาจริง ๆ อยากให้ลองเลือกแก้ปัญหาตามทางเลือกข้างต้น แต่ที่สำคัญคือ ก่อนซื้อประกัน ศึกษารายละเอียด คิดให้รอบคอบ และเลือกวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตัวเอง หรือปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วนประกันภัย 1186

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.). https://www.oic.or.th/th/consumer