How to write เขียนจดหมายยังไง

ให้เจ้าหนี้ยอมช่วย

หลายคนรู้สึกกลุ้มใจ วิตกกังวล เมื่อชำระหนี้ไม่ไหว แต่อย่าลืมว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก สำหรับในกรณีนี้ก็คือการขอเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เพื่อที่จะหาข้อยุติร่วมกันในการขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งลูกหนี้มักไม่รู้ว่าสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ตลอด ตั้งแต่ยังเป็นหนี้ปกติแต่เริ่มมีปัญหาจนเป็นหนี้เสีย หรืออยู่ในกระบวนการทางศาลแล้วก็ตาม

        การเขียนจดหมายเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ติดต่อกับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถส่งเรื่องถึงเจ้าหนี้ได้โดยตรง มีหลักฐานชัดเจน ไม่ต้องประหม่าเวลาเจอหน้า นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังมีเวลาเรียบเรียงความคิดและข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ที่ตนเองทำได้หรือจ่ายไหวอีกด้วย

ก่อนเริ่มต้นเขียน เราต้องรู้อะไรบ้าง

 

1. รู้ข้อมูลเจ้าหนี้

 

- เจ้าหนี้ของเราคือใคร เพื่อส่งจดหมายให้ถูกที่และถูกคน เพราะบางครั้งชื่อบริการที่เราคุ้นเคยเป็นชื่อทางการค้า แต่ไม่ตรงกับชื่อของสถาบันการเงินหรือบริษัท ตัวอย่างเช่น “มันนี่เอามั้ย” เป็นชื่อทางการค้า แต่ชื่อที่เจ้าหนี้ใช้จดทะเบียนบริษัทคือบริษัท มันนี่ จำกัด ดังนั้น เราควรจะส่งจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท มันนี่ จำกัด โดยตรวจสอบชื่อเจ้าหนี้ได้จากเอกสารสัญญา ใบแจ้งหนี้

- ส่งจดหมายหาเจ้าหนี้ทางไหนได้บ้าง สอบถามศูนย์บริการลูกค้าหรือคอลเซนเตอร์ (call center) ของเจ้าหนี้ว่าส่งได้ทางไหนบ้าง เช่น อีเมล ไปรษณีย์ สำหรับทางไปรษณีย์เราควรส่งแบบลงทะเบียน เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าจดหมายของเราส่งถึงมือเจ้าหนี้หรือไม่ และมีหลักฐานเพื่อติดตามความคืบหน้า

 

2. รู้ข้อมูลตัวเราเอง


เราต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะให้เจ้าหนี้พิจารณาแล้วอยากช่วยเรา ได้แก่ ข้อมูลหนี้ที่มีทั้งหมด รายรับ-รายจ่าย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรเตรียมและส่งไปให้เจ้าหนี้พร้อมจดหมาย ได้แก่

- ตารางสำรวจภาระหนี้ เริ่มต้นจากดูว่าเรามีภาระหนี้อะไรบ้างแล้วนำมาจดไว้ในตาราง ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมภาระหนี้สินที่มี และสามารถวางแผนปลดหนี้หรือแก้ไขปัญหาหนี้ได้ง่ายขึ้น อ่านวิธีการทำตารางได้ที่นี่

- บันทึกรายรับ-รายจ่าย เป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพการจัดการเงินของตัวเราทั้งด้านรายรับกับพฤติกรรมการใช้จ่าย หรือเห็นการไหลเข้า-ออกของเงินของเรา ซึ่งจะมีประโยชน์กับการแก้ปัญหาหนี้และต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านได้จากที่นี่

- เอกสารประกอบ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง เช่น เอกสารรายได้ ค่าใช้จ่าย และใบแจ้งหนี้ หากถูกลดเงินเดือน ให้ใช้สลิปเงินเดือนก่อนและหลังถูกลด หากตกงาน ให้ใช้จดหมายเลิกจ้าง หากเจ็บป่วยต้องรักษาตัวทำให้ขาดรายได้ ให้ใช้ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล (ควรสอบถามเจ้าหนี้ก่อนส่งจดหมายไปว่าต้องการเอกสารใดบ้าง)

 

ทั้งนี้ สามารถใช้สำเนา (เก็บเอกสารตัวจริงไว้กับตัวเอง) และควรระบุในเอกสารเหล่านี้ว่าใช้ประกอบการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น

เริ่มต้นเขียน ขอให้มีหลักในใจว่า ทุกเรื่องที่เขียนต้องเป็นความจริง สามารถพิสูจน์ตรวจสอบได้ หากเจ้าหนี้ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง

 

ย่อหน้า 1 แนะนำตัวกับเจ้าหนี้

 

1. แนะนำตัว ให้ข้อมูลเจ้าหนี้ก่อนว่าเราชื่ออะไร


2. ข้อมูลหนี้ ได้แก่

- ประเภทหนี้ทั้งหมดที่มีกับเจ้าหนี้รายที่เราต้องการเจรจา เช่น บ้าน รถ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด (ใส่ข้อมูลเลขที่สัญญา หมายเลขบัตร หรือเลขที่ลูกค้า ถ้ามี)

- จำนวนเงิน ได้แก่ ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน และยอดหนี้คงเหลือปัจจุบันกับเจ้าหนี้รายนี้

- สถานะผ่อนหนี้กับเจ้าหนี้รายนี้เป็นอย่างไร เช่น ยังจ่ายอยู่แต่จ่ายได้น้อยลง หรือไม่จ่ายมาแล้วกี่งวด

 

3. ข้อมูลเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่าย

- แหล่งรายรับและจำนวนเงิน เราประกอบอาชีพอะไร มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนประมาณเท่าไหร่

- รายจ่ายและจำนวนเงิน ให้ข้อมูลรายจ่ายที่มีต่อเดือน จำแนกออกว่ามีอะไรบ้าง เท่าไหร่

 

4. สภาพคล่องที่มี

เช่น เมื่อหักค่าใช้จ่ายและหนี้แล้วมีเงินเหลือเก็บบ้าง แต่หากเดือนใดขายสินค้าได้น้อยก็จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้

ตัวอย่างการเขียนแนะนำตัวกับเจ้าหนี้:

 

         ผมชื่อนายสุขใจ คลายกังวล ใช้บริการบัตรกดเงินสดมันนี่เอามั้ย เลขที่บัตร 544000005500 ซึ่งมีภาระผ่อนหนี้กับบริษัทเดือนละประมาณ 12,000 บาท ปัจจุบันมียอดเงินคงเหลือ 80,000 บาท ที่ผ่านมาผมสามารถผ่อนชำระหนี้ทุกงวดมาได้ดีโดยตลอด โดยรายได้หลักของผมมาจากการขายสินค้าที่ตลาดนัด มีรายรับจากการขายเฉลี่ยประมาณ 25,000-27,000 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ได้แก่ ค่าผ่อนชำระหนี้เดือนละ 18,000 บาท โดยแบ่งเป็นชำระหนี้กับบริษัท 12,000 บาท หนี้บัตรเครดิตที่ผมใช้ในการซื้อสินค้ามาจำหน่ายเดือนละ 6,000 บาท และค่าใช้จ่ายทั่วไปในครอบครัวประมาณเดือนละ 8,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว บางเดือนมีเงินเหลือเก็บบ้างเพียงเล็กน้อยประมาณ 1,000 บาท และหากเดือนใดขายสินค้าได้น้อยก็จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ปัจจุบันผมมียอดค้างชำระกับบริษัทท่านจำนวน 1 งวด (เดือนกรกฎาคม 2564) เป็นจำนวน 12,000 บาท

ย่อหน้า 2 บอกปัญหา สาเหตุที่ทำให้ผ่อนชำระหนี้ไม่ได้

 

1. บอกสาเหตุที่ทำให้จ่ายหนี้ไม่ได้ เช่น โควิด-19 ทำให้ขายของไม่ได้ เจ็บป่วย ถูกลดเงินเดือน ตกงาน กิจการถูกปิด
2. ชี้แจงว่าสาเหตุตามข้อ 1 ส่งผลกระทบอย่างไร คาดว่ายาวนานแค่ไหน และได้พยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นอย่างไร

 

ตัวอย่างการเขียนเล่าปัญหาและสาเหตุ:

 

         ต่อมาในช่วงวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของผมลดลงอย่างมาก จากที่เคยขายได้เดือนละประมาณ 25,000–27,000 บาท เหลือเพียง 12,000 บาท (มีรายละเอียดในสำเนาบันทึกรายรับ-รายจ่ายที่ส่งมาด้วย) จะเห็นว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 รายได้ผมลดลงเกิน 50% และเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น โดยขาดสภาพคล่องต่อเนื่องมาแล้วกว่า 2 เดือน ทำให้ผมไม่มีเงินมาผ่อนชำระหนี้ของเดือนกรกฎาคม 2564 (ดูรายละเอียดได้ในใบแจ้งหนี้) แม้ผมจะลดค่าใช้จ่ายในบ้านลงบ้างแล้วและนำเงินออมที่เก็บสะสมมาใช้ แต่ก็ยังไม่พอที่จะชำระหนี้และใช้จ่ายในครอบครัว (รายละเอียดตามเอกสารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผมได้ส่งมาด้วย) ซึ่งผมคาดว่าจะยังไม่มีรายได้พอที่จะมาชำระหนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือน

ย่อหน้า 3 ขอความช่วยเหลือ และเสนอแนวทางการชำระหนี้ที่เราคิดว่าทำได้

 

1. ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ โดยเสนอแนวทางที่เราต้องการพร้อมบอกเหตุผล ซึ่งลูกหนี้ควรเสนอตัวเลือกในใจไปให้เจ้าหนี้ก่อนอย่างน้อย 1 หรือ 2 ทางเลือก เช่น หากดูแล้ว COVID-19 น่าจะคงอยู่ไม่น้อยกว่า 3 เดือน เราอาจเสนอขอพักชำระหนี้ 6 เดือน แต่ต้องคิดเผื่อว่าหากได้พักชำระหนี้แค่ 3 เดือน เราจะไหวหรือไม่ ซึ่งอาจต้องมาดูว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นบ้างหรือกลับมาเท่าเดิมหลังการพักชำระหนี้ 3 เดือนหรือไม่ ต้องหาอาชีพเสริมหรือลดค่าใช้จ่ายส่วนใดได้อีก อีกทางเลือกหนึ่งคือช่วงเดือนที่ 4 เป็นต้นไป ลองขอชำระเป็นแบบขั้นบันได คือ ในช่วงแรกอาจขอจ่ายน้อย ๆ แล้วค่อยๆ เขยิบจ่ายมากขึ้นไปเรื่อย ๆ หากมีแนวโน้มว่ารายได้ของเราจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น (สามารถศึกษาทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมได้จาก บทความ “ขอปรับโครงสร้างหนี้แบบไหน...ที่เหมาะกับเรา”)

 

2. บอกช่องทางติดต่อกลับที่สะดวกและติดต่อได้

 

​ตัวอย่างการเขียนขอความช่วยเหลือ เสนอแนวทางการชำระหนี้ และ
บอกช่องทางติดต่อกลับ:

 

          จากปัญหาดังกล่าว ผมจึงอยากจะขอความช่วยเหลือจากบริษัทท่านในการขอพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผมค้างชำระ) ซึ่งในระหว่างที่พักชำระหนี้นี้ ผมจะพยายามหารายได้เสริมหรือหาช่องทางเพิ่มยอดขาย เช่น การขายออนไลน์ เพื่อให้กลับมามีรายได้จุนเจือครอบครัวและชำระหนี้ได้ตามปกติ หรือหากจะให้ผมพักชำระหนี้ได้เพียง 3 เดือน ผมอยากขอให้ช่วยลดยอดผ่อนชำระต่อเดือนลงตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป โดยผ่อนชำระต่อเดือนเป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท (ลดลงเหลือ 20% ของยอดผ่อนชำระต่อเดือน) เป็นระยะเวลา 3 เดือน และหลังจากนั้นเพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 9 เดือน อย่างไรก็ดี หากบริษัทท่านจะสามารถช่วยเหลือผมและครอบครัวได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ด้วยทางเลือกอื่น ขอได้โปรดพิจารณาด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการพิจารณาความช่วยเหลือจากบริษัท และขอได้โปรดแจ้งความคืบหน้าในการพิจารณาให้ผมทราบผ่านช่องทางอีเมล.................... หรือหากประสงค์ขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อผมได้ทางโทรศัพท์มือถือหมายเลข ..................... จักขอบคุณยิ่งครับ

 

    หลังจากนั้น เจ้าหนี้จะติดต่อมาโดยอาจขอข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม เราก็ต้องจัดเตรียมเอกสารและจัดส่งให้ตรงเวลาที่รับปากไว้ ซึ่งเป็นตัววัดเจตนาและความตั้งใจจริงของเราในการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย
    แต่หากสุดท้ายแล้วเจ้าหนี้ไม่ให้ความช่วยเหลือ เรื่องไม่คืบหน้า หรือข้อเสนอยังไม่ช่วยลดภาระได้จริง สามารถติดต่อส่งเรื่องมาที่ “ทางด่วนแก้หนี้” ได้

วิธีทำตารางสำรวจภาระหนี้

        ตีตารางในกระดาษ หรือใช้โปรแกรม excel หรือโปรแกรมอื่น ๆ โดยให้มีหัวข้อที่ช่วยให้ดูข้อมูลหนี้ให้เข้าใจได้ง่าย ได้แก่ ประเภทหนี้ หลักประกัน (ถ้ามี) ชื่อเจ้าหนี้ อัตราดอกเบี้ยต่อปี ยอดหนี้คงเหลือ ยอดผ่อนชำระต่อเดือน และความสามารถในการชำระหนี้ เช่น จ่ายเต็มจำนวน จ่ายขั้นต่ำ ค้างชำระกี่เดือน แล้วเขียนข้อมูลลงไปตามช่อง ดูรายละเอียดวิธีสำรวจภาระหนี้เพิ่มเติมได้ ที่นี่ แล้วเราจะนำข้อมูลภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนไปใช้ในบันทึกรายรับ-รายจ่ายด้วย

การบันทึกรายรับ-รายจ่าย

     การจดบันทึกจะทำให้เรารู้ว่ารายรับของเรามาจากไหนบ้าง รวมทั้งความถี่ที่ได้เงิน (เช่น ทุกเดือน หรือนาน ๆ ที) จำนวนเงินมากน้อยแค่ไหน เรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ยิ่งถ้าเราสามารถบันทึกให้ได้เป็นประจำทุกวันก็จะทำให้เห็นแนวโน้มของรายได้-ค่าใช้จ่าย และจำนวนเงินว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง เรามีเงินเหลือหรือไม่พอใช้ เพื่อช่วยให้เราหาทางรับมือก่อนที่จะเกิดปัญหาการเงินหรือมองย้อนกลับไปหาสาเหตุของปัญหาได้ เช่น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือรายจ่ายจำเป็นที่มากเกินไป หรือถ้ารัดเข็มขัดแบบสุด ๆ แล้ว เราก็ต้องหารายได้มาเพิ่ม นอกจากนี้ บันทึกรายรับ-รายจ่ายยังใช้เป็นข้อมูลประกอบเพื่อให้เจ้าหนี้ใช้พิจารณาแผนปรับโครงสร้างหนี้ได้ด้วย

วิธีจด: จดรายรับและรายจ่ายทุกครั้งที่มีเงินเข้าและออกเป็นประจำทุกวันแล้วสรุปยอดรวมเป็นรายเดือน หากมีภาระผ่อนหนี้ให้นำมาบันทึกในช่องรายจ่ายด้วย เมื่อครบเดือนแล้วให้นำรายรับหักด้วยรายจ่าย ดูว่ามีเงินเหลือหรือไม่ หาดูว่าทำไมหรืออะไรที่ทำให้เราเหลือเงินไม่พอใช้

ตัวอย่าง:


1. บันทึกรายรับ-รายจ่ายแบบแยกเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นและไม่จำเป็น เพื่อช่วยวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของเราได้ง่ายขึ้น 

Image

2. บันทึกรายรับ-รายจ่ายแบบแยกประเภทรายจ่ายและใส่ชื่อรายจ่ายที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ วิธีนี้ใกล้เคียงกับวิธีข้างต้นแต่ระบุชื่อของรายจ่ายที่เกิดขึ้นประจำไว้เลย ไม่ต้องเขียนเองทุกครั้งที่มีรายรับหรือรายจ่ายเกิดขึ้น แค่จดเฉพาะจำนวนเงินเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับการจดบันทึกในโปรแกรม excel เพื่อให้สะดวกในการกรอกข้อมูลและคำนวณอัตโนมัติ 

Image