รีเทนชันเป็นการขอให้เจ้าหนี้ปัจจุบันลดอัตราดอกเบี้ยให้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องยื่นเอกสารเหมือนยื่นกู้กับเจ้าหนี้รายใหม่แบบรีไฟแนนซ์ และหากเป็นลูกหนี้ดี ไม่มีประวัติค้างชำระ มักจะได้รับอนุมัติจากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ไปอีกประมาณ 3 ปี แต่หากดอกเบี้ยที่ได้รับใหม่ลดลงเพียงเล็กน้อย ก็อาจลองใช้วิธีรีไฟแนนซ์ หรือการเปลี่ยนเจ้าหนี้ โดยหาธนาคารเจ้าใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
รีไฟแนนซ์เป็นทางเลือกเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยอีกวิธีหนึ่งที่ลูกหนี้สินเชื่อบ้านนิยมใช้ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ให้มาใช้บริการสินเชื่อด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปีแรก ยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเจ้าหนี้ปัจจุบัน ก็จะช่วยให้ลูกหนี้ประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไปได้อย่างน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์ ควรเปรียบเทียบระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ กับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่
- ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ คำนวณได้จากการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเดิมกับธนาคารใหม่
- ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ เป็นการคำนวณว่าหากรีไฟแนนซ์ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่เราต้องจ่ายบ้างและเป็นเงินเท่าไหร่ เช่น
1) ค่าปรับกรณีไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ธนาคารเดิมหากผู้กู้ไถ่ถอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นช่วงภายใน 3 ปีหรือ 5 ปีนับจากวันทำสัญญา
2) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขอสินเชื่อ เมื่อเราจะรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ ธนาคารใหม่ก็จะคิดค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อใหม่ เช่น ค่าประเมินหลักประกัน ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าอากรแสตมป์
นอกจากนี้ อาจมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่เราควรตรวจสอบ เช่น ธนาคารบางแห่งอาจเสนอโปรโมชันยกเว้นค่าใช้จ่ายบางอย่างแก่ลูกค้า เช่น ค่าธรรมเนียมจดจำนองหลักประกันแก่ลูกค้า แต่หากลูกค้าไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่นก่อนระยะเวลา 3 ปี ก็จะต้องคืนค่าใช้จ่ายนั้น ซึ่งในกรณีนี้คือค่าธรรมเนียมจดจำนองที่ธนาคารได้ชำระแทนลูกค้าไปแล้วคืนให้ธนาคารด้วย เราก็ต้องเอาค่าใช้จ่ายนี้มาคำนวณหากต้องการรีไฟแนนซ์ก่อนหมดช่วงเวลาที่กำหนดในคราวหน้า