​สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผู้ขอสินเชื่อนำทรัพย์สินทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืม ซี่งมีหลากหลายรูปแบบโดยพิจารณาจากประเภทของหลักประกันเป็นสำคัญ เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัญชีเงินฝาก บำเหน็จตกทอด พันธบัตร ทั้งนี้ ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์การกู้ สามารถใช้จ่ายอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ว่าจะเป็นใช้อุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือใช้ในการประกอบอาชีพ

วงเงินสินเชื่อ

 

ผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณากำหนดวงเงินจากมูลค่าตลาด ณ เวลานั้น ของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน ร่วมกับความสามารถในการผ่อนชำระ และระยะเวลาที่จะผ่อนชำระ ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อที่มีหลักประกันส่วนใหญ่มักจะใกล้เคียงกับมูลค่าของราคาประเมินหลักประกัน (100%) และสูงกว่าวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (ซึ่งกำหนดเพดานสูงสุดที่ 5 เท่าของเงินเดือน)

การคิดดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ค่าใช้จ่ายการจดจำนอง

ค่าธรรมเนียมการประเมินราคา

ค่าธรรมเนียมในการเบิกถอน

ค่าอากรแสตมป์

ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์

expense

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันมักจะเป็นแบบลดต้นลดดอก และอาจเปลี่ยนแปลงตามจำนวนเงินกู้ ยกเว้นสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกัน มักจะคิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) เช่นเดียวกับการเช่าซื้อรถยนต์

 

ส่วนค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาจแตกต่างกันไปตามประเภทของสินเชื่อและข้อกำหนดของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เช่น

   - ค่าธรรมเนียมในการเบิกถอน
   - ค่าธรรมเนียมในการประเมินราคา
   - ค่าใช้จ่ายการจดจำนอง
   - ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์
   - ค่าอากรแสตมป์

 

ดังนั้น ควรศึกษาทำความเข้าใจวิธีการคิดดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างละเอียด
รวมถึงเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก่อนเลือกขอสินเชื่อ​

คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ

 

ผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัญชีเงินฝาก พันธบัตร รวมถึงสิทธิบำเหน็จตกทอด โดยทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องปลอดภาระหนี้หรือภาระผูกพัน (ค้ำประกัน) ใด ๆ และนำมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือ Non-bank ซึ่งจำแนกตามประเภทหลักประกันที่สำคัญดังนี้​​​​

ที่อยู่อาศัย

(บ้านพร้อมที่ดิน ทาวเฮ้าส์ ตึกแถว คอนโดมิเนียม) เหมาะกับลูกค้าที่มีที่อยู่อาศัยเป็นชื่อของตนเอง และไม่ติดภาระจำนองใด ๆ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ ผู้กู้ยังสามารถพักอาศัยได้ตามปกติ แต่ต้องจดจำนองที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน และกำหนดระยะเวลาการผ่อนยาวนาน (สูงสุดถึง 30 ปี) สินเชื่อประเภทนี้แตกต่างจากสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยตรงที่สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยต้องใช้เงินกู้เพื่อชำระค่าซื้อที่อยู่อาศัย แต่กรณีนี้เป็นการเอาที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักประกันเพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น

image

รถยนต์

เหมาะกับลูกค้าที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นชื่อของตนเอง และได้ผ่อนชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อซื้อรถยนต์หมดแล้ว ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ ผู้กู้ยังสามารถครอบครองและนำรถไปใช้ได้ตามปกติ เพียงแค่นำเล่มทะเบียนมาขอสินเชื่อที่ธนาคารหรือ Non-bank ที่ให้บริการ จึงมีชื่อเรียกว่า "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ"

car

ซึ่งสามารถจำแนกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถได้ 2 ประเภทตามลักษณะการโอนเล่มทะเบียน คือ แบบโอนเล่ม และแบบไม่โอนเล่ม (โอนลอย)

 

1. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบโอนเล่มทะเบียน
เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์โอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ให้สินเชื่อเพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ วงเงินสินเชื่อประมาณ 80% –120% ของราคาประเมิน และมีระยะเวลาผ่อนชำระประมาณ 72–84 งวด (วงเงินและระยะเวลาการผ่อน มากกว่าแบบไม่โอนเล่ม) ​​

2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบไม่โอนเล่มทะเบียน
(โอนลอย) เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ไม่ต้องโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ให้สินเชื่อ แต่จะต้องลงนามล่วงหน้าไว้ในเอกสารการโอน และมีผู้ค้ำประกัน โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และกำหนดวงเงิน (70%–80% ของราคาประเมิน) และระยะเวลาการผ่อน (ประมาณ 60 งวด) น้อยกว่าแบบโอนเล่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ไม่มีการโอนทะเบียน​​

ทั้งนี้ อายุสูงสุดของรถยนต์ที่รับเป็นหลักประกันอยู่ที่ 15-17 ปี โดยรวมระยะเวลาผ่อนแล้วอายุรถไม่เกิน 20 ปี ผู้ให้สินเชื่อส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยแบบ Flat Rate และมีการแข่งขันกันให้สินเชื่อ เช่น การอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง และการรับเงินกู้มักให้ในหลังวันโอนเล่มหรือวันอนุมัติ 1 วัน แล้วแต่กรณี โดยอาจอยู่ในรูปเงินก้อนหรืออยู่ในรูปบัตรกดเงินสด

บัญชีเงินฝาก

เหมาะกับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อและไม่มีหลักประกันประเภทอื่น (เช่น บ้านหรือรถ) หรือมีบ้านแต่ไม่อยากจำนอง หรือมีรถแต่ไม่อยากจำนำทะเบียนรถ แต่มีบัญชีเงินฝากที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในบัญชีนั้นเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน จึงนำมาวางเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้ (เงินในบัญชีที่ใช้เป็นหลักประกันจะถอนออกมาใช้ไม่ได้ ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารอาจให้โอนออกมาใช้จ่ายได้) นอกจากนี้ สินเชื่อลักษณะนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการใช้หลักประกันประเภทอื่น โดยมักจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่นำมาเป็นหลักประกันบวกด้วย 1%-3% ทั้งนี้ วงเงินและระยะเวลาการผ่อนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของสินเชื่อและเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

account

บำเหน็จตกทอด

เหมาะกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างประจำผู้รับบำนาญ ซึ่งเกษียณอายุงานแล้วและไม่มีเงินเดือนประจำ แต่สามารถขอสินเชื่อได้โดยใช้หนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอด (ออกโดยกรมบัญชีกลาง) มาเป็นหลักประกันเงินกู้ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือผู้กู้อายุเกิน 60 ปีได้ และสามารถผ่อนได้นาน (สูงสุดถึง 30 ปี)

image

​ข้อควรระวังในการใช้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีประกัน

 

แม้ว่าสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันจะช่วยให้ผู้กู้มีสภาพคล่องได้ง่าย รวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ประกอบกับผู้ให้สินเชื่อมักจะโฆษณาชวนเชื่อว่าได้รับอนุมัติง่าย ๆ วงเงินสูง ผ่อนนาน ผ่อนน้อย หรือจัดรายการส่งเสริมการขายต่าง ๆ แต่ผู้กู้ก็ต้องไม่ลืมว่าหากก่อหนี้แล้วผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจทำให้สูญเสียทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยหรือเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น ควรขอสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

นอกจากนี้ หากต้องการนำเงินกู้ไปใช้จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น จ่ายค่าเทอม ลงทุนเปิดกิจการ เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก็ควรหาข้อมูลและเปรียบเทียบเงื่อนไขของสินเชื่อที่ตรงตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวกับสินเชื่อแบบอเนกประสงค์ก่อน เพราะมักจะมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นกว่าสินเชื่อแบบอเนกประสงค์ เช่น

​สินเชื่อเพื่อการศึกษา อาจใช้บุคคลค้ำประกันแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลัก  ทรัพย์ค้ำประกัน หรือผู้กู้อาจเป็นผู้ปกครองของผู้ศึกษาก็ได้ หรือกรณีของสินเชื่อกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สามารถเริ่มผ่อนชำระหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว​

​สินเชื่อเพื่อกิจการทางการแพทย์ พิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้จากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ประสบการณ์การทำงาน (อย่างน้อย 1 ปี) และใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล  โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ที่ผ่านมาในอดีต​

​สินเชื่อไปทำงานต่างประเทศ มีอัตราดอกเบี้ยบางส่วนที่ได้รับการสนับสนุนโดยกรมการจัดหางาน ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด​

ผู้ให้บริการ

 

ผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. คือ ธนาคารพาณิชย์

ผู้ให้บริการที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) สถานธนานุบาลและผู้ประกอบการอื่น ๆ​

bank