จะเลือกผ่อนบ้าน ต้องเปรียบเทียบอะไรบ้าง
หากฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง นอกจากเรื่องการเลือกบ้านได้ตรงตามความต้องการในราคาที่จ่ายไหวแล้ว การตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงินใดก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเป็นภาระทางการเงินระยะยาว และมีผลผูกพันตามกฎหมาย เราจึงควรศึกษาและเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไข รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจ
1. อัตราดอกเบี้ย มักเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหนี้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันเพียงร้อยละ 0.5 ก็รวมเป็นเงินจำนวนมากเมื่อเวลาผ่านไป เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.5 จะเสียดอกเบี้ยประมาณ 3.13 ล้านบาท แต่หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 5 จะเสียดอกเบี้ยประมาณ 2.78 ล้านบาท ต่างกันถึง 350,000 บาท (ลองคำนวณหาจำนวนดอกเบี้ยคร่าว ๆ ได้ที่ โปรแกรมคำนวณเงินกู้)
สถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงดึงดูดลูกค้าด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกที่ค่อนข้างต่ำ และหากยังไม่ได้คิดถึงการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนดเพื่อไปใช้บริการกับสถาบันการเงินอื่น (refinance) ก็ควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาควบคู่ไปด้วย
2. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เช่น
- ค่าสำรวจและประเมินหลักประกัน
- ค่าธรรมเนียมกรณีไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนดเพื่อไปใช้บริการกับสถาบันการเงินอื่น (refinance)
3. เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น
- คุณสมบัติของผู้กู้ เช่น อาชีพ อายุ รายได้ขั้นต่ำ รวมถึงคุณสมบัติและความสัมพันธ์ของผู้กู้ร่วม (ถ้ามี)
- วงเงินสินเชื่อและระยะเวลาผ่อนชำระ
- เงื่อนไขการใช้สินเชื่อควบคู่กับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น การทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (MRTA) การมีบัญชีเงินฝาก การใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติ
- ช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายที่จะช่วยทำให้ชำระหนี้ได้สะดวกมากขึ้น โดยแต่ละช่องทางอาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี การหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง อาจทำให้เกิดความยุ่งยากและต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) จึงได้จัดทำเว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และเว็บไซต์เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่สนใจกู้ซื้อบ้านได้มีแหล่งข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาและเปรียบเทียบรายละเอียดสำคัญของผลิตภัณฑ์ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ง่าย และมีทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองมากที่สุดก่อนติดต่อกับสถาบันการเงินที่สนใจ
(1) เมื่อเข้าสู่หน้าเว็บไซต์แล้ว จะพบข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากหลากหลายสถาบันการเงิน โดยสามารถเลือกการจัดเรียงข้อมูลได้ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี วงเงินสินเชื่อ ชื่อผลิตภัณฑ์ และชื่อผู้ให้บริการ เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่สนใจแล้วและต้องการดูหรือเปรียบเทียบข้อมูล สามารถคลิกเลือกที่กล่องสี่เหลี่ยมที่อยู่หน้าชื่อผลิตภัณฑ์ที่สนใจ (หรือหากต้องการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มี ให้คลิกเลือก “เปรียบเทียบทั้งหมด” ที่หัวข้อซ้ายบนสุดของตาราง)
(2) จากนั้น คลิก “เปรียบเทียบ” ที่มุมขวาล่าง จะเห็นรายการสินเชื่อที่เลือกไว้ และเมื่อคลิก “เปรียบเทียบข้อมูล” ที่แถบสีฟ้าด้านล่าง จะพบข้อมูลสินเชื่อในรูปแบบตารางเปรียบเทียบ ซึ่งสามารถบันทึกเก็บไว้ในรูปแบบ PDF หรือ Excel ได้อีกด้วย
(3) ข้อมูลที่แสดงจะเป็นข้อมูลเบื้องต้น หากต้องการเปรียบเทียบข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เช่น อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ก็สามารถคลิก “ดูข้อมูลเพิ่มเติม” ที่มุมขวาล่าง จะปรากฏรายการขึ้นมาตามภาพด้านล่าง เพื่อให้เลือกข้อมูลที่ต้องการเปรียบเทียบ และเมื่อคลิกเลือกที่ช่องสี่เหลี่ยมหน้าข้อมูลที่ต้องการแล้ว คลิก “แสดงข้อมูล” จะพบการเปรียบเทียบข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ได้เลือกไว้
(4) ในกรณีที่เรามีเงื่อนไขหรือข้อมูลบางอย่างที่ต้องการเปรียบเทียบอยู่แล้ว เช่น ประเภทสินเชื่อ ประเภทหลักประกัน หรือชื่อสถาบันการเงิน เมื่อเข้ามาที่หน้าเว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ก็สามารถคลิก "ค้นหาขั้นสูง" ที่มุมขวาล่าง เพื่อเลือกใส่เงื่อนไขที่ต้องการค้นหา เมื่อคลิก "แสดงข้อมูล" ที่ด้านล่างแล้ว ก็จะปรากฏข้อมูลให้เลือกเปรียบเทียบได้ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น
และสำหรับผู้ที่ต้องการเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถเลือกเปรียบเทียบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีรูปแบบการใช้งานเช่นเดียวกันกับการเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยในเว็บไซต์เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมนี้ นอกจากจะเลือกประเภทสินเชื่อ หรือสถาบันการเงินในหน้าต่างค้นหาขั้นสูงได้แล้ว ยังสามารถเลือกลักษณะการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย
เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ประกอบการตัดสินใจแล้วก็ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินรายใดมีความคุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการของเรามากที่สุด จากนั้น เตรียมเอกสารประกอบการขอสินเชื่อให้ครบถ้วน และติดต่อไปยังสถาบันการเงินที่เราสนใจเพื่อซักถามข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะขอสินเชื่อต่อไป และหากได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีวินัยในการผ่อนชำระให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระซึ่งอาจก่อให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ และหมั่นติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มทางเลือกในการ refinance ที่อาจช่วยลดดอกเบี้ย และช่วยให้หมดหนี้บ้านได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
1) ประกันอัคคีภัย เป็นประกันที่ต้องทำเมื่อขอสินเชื่อบ้าน โดยจะให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันและทรัพย์สินจากเหตุไฟไหม้และภัยอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งผู้กู้สามารถเลือกทำประกันกับบริษัทประกันภัยที่น่าเชื่อถือรายใดก็ได้ โดยระบุรายละเอียดในกรมธรรม์ให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์
2) ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (MRTA) เป็นประกันตามความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะประกันความเสี่ยงให้แก่ผู้กู้ ซึ่งหากเกิดเหตุต่อชีวิต ก็จะไม่กระทบต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน เพราะบริษัทประกันภัยจะทำหน้าที่ชำระหนี้แทนผู้กู้เอง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาคุ้มครองและวงเงินประกันที่ผู้กู้เลือกทำประกันไว้ ทั้งนี้ การทำประกัน MRTA ไม่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร แต่อาจได้รับการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่ธนาคาร ซึ่งผู้กู้ควรพิจารณาความคุ้มค่าด้วย และหากเจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่า ถ้าผู้กู้ไม่ทำประกัน MRTA จะไม่อนุมัติสินเชื่อให้ หรือบังคับให้ทำกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ขอให้ร้องเรียนไปที่ call center ของธนาคารนั้น ๆ และถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา สามารถร้องเรียนมาที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)