ข้อมูลสำหรับผู้เตรียมตัวมีครอบครัว

​​​​​​​​​เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเป็นผู้ใหญ่ตอนต้น มีอาชีพการงานที่มั่นคงพอสมควรแล้ว คุณอาจมีความคิดที่จะสร้างครอบครัวกับคนที่อยากร่วมชีวิตด้วย การแต่งงานเป็นการเริ่มต้นชีวิตจริงของผู้ใหญ่ที่มีภาระรับผิดชอบหลายอย่าง และหนีไม่พ้นที่จะต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การจัดงานแต่งงาน ค่าใช้จ่ายการดำเนินชีวิตหลังแต่งงานหากคุณแยกบ้านออกมาอยู่กันเอง มีลูก เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายรายการต่าง ๆ เป็นเงินก้อนโตทีเดียว​

fam

 

หากคุณและคนรักตัดสินใจว่าจะแยกออกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว การซื้อบ้านหลังใหม่ก็คงเป็นสิ่งจำเป็น และคนส่วนใหญ่มักใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอีกมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งรายจ่ายประจำ (เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) และรายจ่ายไม่ประจำ (เช่น ค่าซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล) เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่คนมีครอบครัวจำเป็นต้องรู้ คือ การวางแผนการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินในแต่ละช่วงของชีวิตโดยไม่สะดุด รวมทั้งมีการบริหารจัดการหนี้สินอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คุณควรวางแผนเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ลูกไว้ด้วย เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค จะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนสมาชิกแล้ว ยังมีค่าเทอมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของลูกที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่างจากสมัยที่คุณยังเรียนหนังสือมาก

นอกจากเงินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดมาแล้ว อย่าลืมว่าคุณอาจมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยมากขึ้นด้วย ซึ่งไม่ว่าในกรณีการเลี้ยงดูลูกหรือพ่อแม่ คุณอาจเริ่มจากสำรวจสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวที่ได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีหรือเพียงพอหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็อาจต้องมีการบริหารจัดการเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มด้วย เช่น การประกันสุขภาพตามที่จำเป็น การประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงิน และบรรเทาความเดือดร้อน กรณีมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับทั้งตัวคุณเองและคนที่คุณรัก​

ดูแลคนอื่นแล้วก็ต้องไม่ลืมวางแผนเพื่อดูแลตัวเอง เช่น การเตรียมเงินก้อนหนึ่งสำหรับรองรับเหตุฉุกเฉิน (เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย ตกงาน) การทำตามความฝันของตัวเองในปัจจุบัน และการวางแผนเกษียณสำหรับชีวิตในอนาคต หากยังไม่ได้วางแผนหรือวางไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ทำ ก็ขอแนะนำให้ลงมือทันที รวมทั้งทำตามแผนและปรับปรุงแผนเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยอาจทำการประเมินความรอบรู้ทางการเงินของตนเองควบคู่กันไป ซึ่งคุณควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับการออม (โปรแกรมคำนวณเงินออม ก็เป็นตัวช่วยเบื้องต้นในการสินใจวางแผนการออมด้วย) การลงทุน และ สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เพื่อใครเลยแต่เพื่อดูแลตัวเองและคนที่คุณรักให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในวันนี้และในวัยเกษียณ​