สิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน

​​​​​​ในการใช้บริการทางการเงิน เช่น การฝาก-ถอนเงิ​น การขอสินเชื่อ และธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ นอกจากเราที่เป็นผู้ใช้บริการหรือลูกค้าควรมีความรู้และความเข้าใจในลักษณะของบริการที่สนใจหรือกำลังใช้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก็คือความรู้และความเข้าใจในสิทธิของตนเอง มาดูกันว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงินมีอะไรบ้าง​

 

right

 

1. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง (Right to be informed)

 

ในการเข้าไปใช้บริการของสถาบันการเงิน การได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินต้องอธิบายเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ลูกค้าทราบอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ความแตกต่างระหว่างบริการเงินฝากกับผลิตภัณฑ์ด้านประกันและหลักทรัพย์ เงินฝากกับตั๋วแลกเงิน ผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท สิทธิและข้อผูกพันตามสัญญา รวมถึงการใช้สื่อเพื่อส่งเสริมการขายที่ต้องไม่ชวนเชื่อเกินจริงไม่ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญที่เราต้องใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการแต่ละประเภท คือ อัตราดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่างๆ รวมทั้งเบี้ยปรับที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยเราสามารถสอบถามหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการเงินตามช่องทางต่าง ๆ เช่น ถามพนักงาน ดูจากประกาศที่ติดไว้ทั้งที่สำนักงานใหญ่และสาขาที่ทำการ และเว็บไซต์ของสถาบันการเงินนั้น ๆ 

Young asian business woman discussing about financial planning with small business owner at cafe coffee shop, Business meeting corporate partnership, Asia financal loan for start up new business

 

2. สิทธิที่จะเลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ (Right to choose)

 

ในฐานะเจ้าของเงินซึ่งเป็นทั้งผู้รับและเสียผลประโยชน์โดยตรง เราควรเลือกใช้บริการทางการเงินที่ต้องการจริง ๆ เท่านั้น ที่สำคัญอย่าลืมว่าลูกค้าอย่างเรามีอิสระในการเลือกใช้บริการ เช่น เลือกที่จะทำบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต หรือไม่ทำบัตรใด ๆ ก็ได้ถ้าไม่ต้องการเมื่อเปิดบัญชีเงินฝาก ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อประกันชีวิตที่สถาบันการเงินนั้นเป็นนายหน้าจำหน่ายหรือต้องฝากเงินในจำนวนสูง ๆ หากต้องการเช่าตู้นิรภัย อีกอย่างหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ก็คือ บางคนตัดสินใจใช้บริการทางการเงินทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากใช้แค่เพราะรู้สึกสงสารหรือเกรงใจพนักงาน เช่น ช่วยซื้อประกันชีวิตเพื่อให้พนักงานมียอดขายถึงเป้า ทั้ง ๆ ที่มีกรมธรรม์คุ้มครองเพียงพอแล้ว การช่วยกันเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องทำให้พอดี อย่าให้เข้าทำนอง “เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด” จะดีกว่า

image

 

3. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (Right to be heard)​

 

หากพบว่าสถาบันการเงินปฏิบัติกับเราไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เช่น ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน บังคับขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เงินฝากในบัญชีสูญหาย ให้รีบแจ้งต่อหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของสถาบันการเงินแห่งนั้น เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องให้หลักฐานที่แสดงว่าได้รับเรื่องร้องเรียนของเราไว้แล้ว และจะต้องแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบในเวลาที่เหมาะสมด้วย แต่ถ้ายังไม่ได้รับการติดตามแก้ไขปัญหาให้เท่าที่ควร เราสามารถติดต่อร้องเรียนและขอคำปรึกษาปัญหาทางการเงินได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ

image

 

4. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย (Right to redress)

 

หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการของสถาบันการเงิน เช่น ระบบไม่ตัดเงินจากบัญชีเพื่อชำระยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตทำให้มีหนี้ค้างชำระ กดเงินจากตู้เอทีเอ็มแต่ไม่ได้รับเงิน เจ้าหน้าที่ขโมยเงินจากบัญชี และธุรกรรมทางการเงินในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งหากมีการพิสูจน์หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเกิดจากความผิดพลาดของสถาบันการเงินเอง หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหาย เราก็มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายนั้น ซึ่งสถาบันการเงินต้องแจ้งผลการดำเนินงานและกระบวนการพิจารณาการชดเชยความเสียหายให้เราทราบด้วย อย่างไรก็ตาม หากเป็นความผิดพลาดของเราเองสถาบันการเงินก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้ความเสียหายให้ เช่น โอนเงินจากตู้เอทีเอ็มไปผิดบัญชีหรือใส่จำนวนเงินผิด

w

นอกจากสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง 4 ประการนี้แล้ว ยังมีสิทธิอื่น ๆ ที่ควรทราบ เช่น

 

สิทธิของผู้มีประวัติในเครดิตบูโร

 

เมื่อเราได้รับสินเชื่อหรือบัตรเครดิตจากธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง หรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ข้อมูลของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ (ยกเว้นหมายเลขโทรศัพท์) เลขบัตรประจำตัวประชาชน ประวัติการชำระหนี้ สินเชื่อหรือบัตรเครดิต ฯลฯ จะถูกส่งมาจัดเก็บ รวบรวมไว้ที่เครดิตบูโรตามที่กฎหมายกำหนด ประวัติที่เก็บนั้นจะมีทั้งประวัติการชำระหนี้ที่ตรงตามกำหนดและประวัติการค้างชำระหนี้ ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเราในฐานะที่เป็นผู้ถูกเก็บข้อมูล (เรียกในทางกฎหมายว่าเจ้าของข้อมูล) มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนี้

 

1. สิทธิเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล

 

เครดิตบูโรจะเปิดเผยข้อมูลของเราได้เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้ ​​​

1.1 เมื่อเราอนุญาตให้เครดิตบูโรเปิดเผยแก่ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง หรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรที่เราไปขอสินเชื่อหรือบัตรเครดิตกับสถาบันการเงินนั้น ในทางปฏิบัติเราจะเซ็นชื่อในหนังสือให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลพร้อมกับใบสมัครสินเชื่อ​

1.2 เมื่อกฎหมายอนุญาตหรือกำหนดไว้ เช่น การเปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งศาล พนักงานสอบสวน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และในบางกรณี เมื่อเปิดเผยข้อมูลของเราแล้ว เครดิตบูโรจะต้​องมีหนังสือแจ้งให้เราทราบภายในสามสิบวันว่ามีการเปิดเผยข้อมูลของเรา

 

2. สิทธิที่จะรู้ว่าเครดิตบูโรเก็บรักษาข้อมูลอะไรของเราบ้า​ง

 

ซึ่งเราในฐานะเจ้าของข้อมูลตามกฎหมายสามารถขอดูและตรวจสอบความถูกต้องได้ และหากพบว่าข้อมูลที่จัดเก็บนั้นไม่ถูกต้อง เราก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งและขอแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ เช่น ชื่อ-นามสกุลไม่ถูกต้อง วัน เดือน ปีเกิด ไม่ถูกต้อง ประวัติการชำระหนี้หากมีหลักฐานแล้วว่ามีการชำระหนี้จริงแต่ประวัติที่ตรวจสอบไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเราสามารถแจ้งให้แก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ทั้งที่เครดิตบูโร หรือแจ้งแก้ไขที่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร (ซึ่งเรามีสินเชื่อหรือบัตรเครดิต กับสถาบันการเงินนั้น)

 

3. สิทธิในการขอให้เครดิตบูโรบันทึกข้อโต้แย้งถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลไว้ในบัญชีสินเชื่อหรือบัตรเครดิตที่มีปัญหากับสถาบันการเงินและหาข้อยุติกันไม่ได้

 

4. เมื่อเราขอบันทึกข้อโต้แย้งไว้แล้วเรามีสิทธิอุท​ธรณ์ข้อโต้แย้งนั้นต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

 

ซึ่งอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องความถูกต้องของข้อมูลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บันทึกข้อโต้แย้ง

 

5. ถ้าสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ/บัตรเครดิตให้เราเพราะข้อมูลเครดิตของเรา เขาต้องออกเป็นเอกสารหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้เราเท่านั้น

 

จะอ้างเป็นคำพูดลอย ๆ ว่าติดเครดิตบูโร หรือบอกว่าติดแบล็คลิสต์ หรือใช้ SMS แจ้งไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เราถือเอกสารหนังสือนั้นมาตรวจสอบข้อมูลของเราที่เครดิตบูโรได้ฟรี ตัวเราจะได้ทราบว่าเพราะอะไรหรือมีอะไรในประวัติของเรา ที่สถาบันการเงินระบุว่าเป็นสาเหตุที่ไม่อนุมัติสินเชื่อ/บัตรเครดิตให้เรา ในทางปฏิบัติเครดิตบูโร จะดำเนินการสอบถามความถูกต้องของข้อมูลไปยังสถาบันการเงินที่เราเป็นลูกค้าว่า ข้อมูลที่ส่งมานั้นตรงกับข้อเท็จจริงกับที่ลูกค้ามีหรือไม่ เช่น ในหนังสือปฏิเสธสินเชื่อบอกว่า ในเดือนปัจจุบันเรายังค้างชำระอยู่ แต่ในข้อเท็จจริงในเดือนเดียวกันนั้นเราได้มีการชำระหนี้ปิดบัญชีไปแล้วอย่างนี้เป็นต้น หากข้อมูลไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เครดิตบูโรยืนยันว่าข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นจะได้รับการแก้ไข ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลที่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องนั้นไปขอสินเชื่อใหม่อีกครั้งได้

 

สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการติดตามทวงถามหนี้​

 

เชื่อได้แน่ว่าไม่มีลูกหนี้คนไหนอยากตกอยู่ในสถานการณ์มีเงินไม่พอใช้หนี้ เพราะนอกจากทำให้ประวัติเครดิตไม่ดีแล้ว ยังมีโอกาส (ไม่ดี) ที่จะถูกทวงหนี้จากเจ้าหนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา และทำให้เกิดความเครียดและความทุกข์ในชีวิตอีกด้วย

ในกรณีที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ แม้ว่าเราจะเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ แต่เราก็ยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น สถาบันการเงินจะติดตามทวงถามหนี้ได้เฉพาะเวลาที่กำหนด คือ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. และวันหยุดราชการ ​ เวลา 08.00 – 18.00 น. การทวงถามหนี้ต้องใช้วิธีการและภาษาที่สุภาพ มีการแสดงตนเมื่อติดตามทวงถามหนี้ ไม่ทวงหรือฝากทวงหนี้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ (เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้หรือสามารถทำได้ตามกฎหมาย)