การเก็บรวบรวมข้อมูล

 

ธปท. ดำเนินการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจการเงินจากหลายแหล่งข้อมูล เพื่อให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานตามพันธกิจของ ธปท. ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

 

(1) การเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เช่น สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ บุคคลรับอนุญาต (Money Changer) และ

ผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 เป็นต้น ตามบทบาทหน้าที่ในฐานะที่ ธปท. เป็นผู้กำกับดูแล โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551  พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน  พ.ศ. 2560  พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485  พ.ร.บ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 เป็นต้น การเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านช่องทางนี้จะมีการติดตามให้แหล่งข้อมูลจัดส่งข้อมูลเป็นไปตามกำหนดเวลา ข้อมูลจะผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่า ธปท. ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามพันธกิจ  ทั้งนี้ ธปท. มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Cost-benefit analysis) ของการรายงานข้อมูลเพื่อการกำกับดูแลของ ธปท. โดยศึกษาภาระของสถาบันการเงินในการรายงานข้อมูล และนำผลการศึกษามาประกอบการปรับปรุงกรอบหลักการและกระบวนการด้านการจัดการข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้ข้อมูลมีความคุ้มค่าเทียบกับภาระของผู้รายงานข้อมูล (ดูเพิ่มเติมที่ หัวข้อการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ตามด้านล่าง)

 

(2) การสรรหาข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกผ่านความร่วมมือ หมายรวมถึง การขอความร่วมมือจากแหล่งข้อมูลในการให้ข้อมูลแก่ ธปท. ผ่านแบบสำรวจต่าง ๆ เช่น หนี้ต่างประเทศ

ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ การลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น และการขอข้อมูลโดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างองค์กร (MOU) จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบัน ธปท. ได้จัดทำ MOU ด้านข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ  กว่า 30 แห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินได้อย่างครอบคลุมและ

ทันการณ์ ข้อมูลดังกล่าวมีทั้งข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจโดยตรง และข้อมูลประเภท alternative data ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการติดตามและคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจได้

 

(3) การจัดซื้อข้อมูล จากแหล่งต่าง ๆ ที่ได้มีการรวบรวมประมวลผลไว้แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินและติดตามภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าเทียบกับประโยชน์

ที่ได้รับ และการประหยัดต้นทุนจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเอง

 

(4) การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งสาธารณะ เช่น การรวบรวมจากสิ่งพิมพ์ สื่อต่าง ๆ รวมถึง การดาวน์โหลดข้อมูลที่มีเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ข้อมูลตามที่แหล่งข้อมูลกำหนด และระมัดระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา

 

ธปท. มีกระบวนการทบทวนความจำเป็นในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมปีละ 1 ครั้ง โดยคำนึงภาระของแหล่งข้อมูลในการจัดส่งข้อมูลให้ ธปท. รวมถึง ต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูล และดำเนินการยกเลิกการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลหากเห็นว่าภาระและต้นทุนดังกล่าวสูงเกินกว่าประโยชน์ที่ได้รับ 

การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการรายงานข้อมูลของสถาบันการเงิน (Cost-Benefit Analysis)

คลิกที่่นี่