สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน ญี่ปุ่น เกาหลี (ASEAN+3)

วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยมีแนวคิดริเริ่มและกลไกต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ในปี 2542 รัฐบาลของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเรียกกลุ่มประเทศนี้ว่า "อาเซียน+3" ได้เห็นชอบร่วมกันโดยตกลงที่จะเสริมสร้าง "กลไกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" ("self-help and support mechanism") และต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ตกลงจัดตั้งโครงการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระดับภูมิภาค หรือที่เรียกว่า "มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI)" เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในรูปแบบการทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิก (Network of Bilateral Swap Arrangements: BSAs

ต่อมาในปี 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่จากความร่วมมือแบบทวิภาคี ไปสู่รูปแบบพหุภาคี ในชื่อ "มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี" (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) โดยมีการจัดตั้งกองทุน CMIM เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ สำหรับรูปแบบการจัดตั้งกองทุน CMIM นั้น จะเป็นรูปแบบ Self-managed Reserved Pooling Arrangement (SRPA)  คือ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะร่วมสมทบเงินก็ต่อเมื่อมีประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาแจ้งขอรับความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ยังได้เล็งเห็นปัญหาการพึ่งพาแหล่งเงินตราต่างประเทศระยะสั้นจากภายนอกในช่วงวิกฤติ จึงได้หันมาพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุน ดังนั้น จึงมีการจัดตั้งมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ในเดือนสิงหาคม 2546 ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการออกพันธบัตรสกุลท้องถิ่นและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพันธบัตร รวมถึงเพิ่มอุปสงค์ อุปทาน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และ ปรับปรุงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบัน งานของอาเซียน+3 สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ด้านความร่วมมือทางการเงิน การพัฒนาตลาดพันธบัตร และการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ (economic surveillance)

1. ด้านความร่วมมือทางการเงิน หรือ "มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือในการเสริมสภาพคล่องแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศระยะสั้น ทั้งกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต (CMIM Precautionary Line: CMIM-PL) และกลไกให้ความช่วยเหลือเมื่อประเทศเกิดวิกฤตแล้ว (CMIM Stability Facility: CMIM-SF) ซึ่งขณะนี้มีวงเงินรวม 240,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีสัดส่วนการสมทบเงินระหว่างประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศ+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ในสัดส่วน 20 : 80 ซึ่งไทยมีภาระผูกพันที่ต้องสมทบเงินให้ความช่วยเหลือสูงสุดจำนวน 9,100 ล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. และมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือสูงสุด 22,760 ล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ สัดส่วนการให้ความช่วยเหลือกรณีไม่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (de-linked portion) ของกองทุน CMIM อยู่ที่ร้อยละ 40 ของวงเงินสูงสุดที่ประเทศสมาชิกจะขอรับความช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ หาก surveillance ของภูมิภาคมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่แล้ว สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้มีความตกลงให้สมาชิกสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินอยู่ในรูปสกุลเงินท้องถิ่นได้

2. การดำเนินงานของ "มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย" ประกอบด้วยคณะทำงาน 4 คณะที่ทำหน้าที่พิจารณาและผลักดันโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพันธบัตรในภูมิภาค ในด้านต่างๆ คือ (1) ด้านการส่งเสริมการออกพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของประเภทและจำนวนตราสารหนี้ อาทิ การจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) (2) การอำนวยความสะดวกด้านอุปสงค์ของพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อเอื้ออำนวยหรือเพิ่มความต้องการในการถือครองตราสารหนี้สกุลท้องถิ่นแก่นักลงทุน (3) การปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับตลาดพันธบัตรของประเทศในภูมิภาคให้สอดคล้องกันมากขึ้น (4) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดพันธบัตร อาทิ ระบบการชำระเงิน

3. การจัดตั้ง "สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาคของภูมิภาคอาเซียน+3" (Macroeconomic Research Office: AMRO) ที่มีภารกิจหลักในการติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศสมาชิกและของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 AMRO ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ และปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้มีความเป็นอิสระในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศสมาชิก

ธปท. มีบทบาทในกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ร่วมกับกระทรวงการคลังไทย โดยเฉพาะเรื่อง CMIM และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. ยังมีส่วนร่วมในคณะทำงานต่างๆ ของแนวคิดริเริ่มการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียอีกด้วย

ในปี 2562 ไทยรับหน้าที่เป็นประธานร่วมกรอบความร่วมมืออาเซียน +3 ร่วมกับจีน โดยมุ่งหวังที่จะร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของ ธปท. อีกด้วย

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมความร่วมมือระหว่างประเทศ 1-2 ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์

E-mail: IND-Cooperation@bot.or.th