ตราสัญลักษณ์สำนักงานธนาคารชาติไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย

2483

alt

ในระยะเริ่มแรก สำนักงานธนาคารชาติไทย มีฐานะเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงการคลังจึงได้ยึดถือเอาตรานกวายุภักษ์ที่มีปีกยาวขึ้น ส่วนหางยังคงแยกเป็น 3 ปอย ขนหางส่วนที่ยาวนั้นห้อยอยู่ 2 ข้างของแพนหาง บรรจุอยู่ในวงกลมรูปไข่ตัดโดยรูปนกวายุภักษ์ในรุ่นหลังมีปีกยาว มีหัวเหมือนนกพิราบ และปากสั้นเหมือนปากนกทั่วไป ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงเขียนไว้เป็นแนวทาง

2485

alt

ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มใช้ตราสัญลักษณ์ซึ่งพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบโดยใช้รูปพระสยามเทวาธิราชในเหรียญเสี้ยว อัฐ โสฬส ที่ออกใช้ในรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง และเพิ่มถุงเงินของชาติ อันเป็นหน้าที่หลักขององค์กร พระแสงธารพระกรในพระหัตถ์ซ้าย เพื่อคอยปกป้องผู้ที่มารุกราน แต่ได้เปลี่ยนตอนปลายจากรูปดอกไม้มาเป็นลายดอกบัว

2514

alt

ตราสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ถูกออกแบบในรูปแบบลายเส้น ต่อมามีการเพิ่มเติมสีและองค์ประกอบที่สื่อถึงความมีค่าของเงินและการเป็นผู้ดูแลสมบัติของชาติ ด้วยสีเหลืองทองที่ถุงเงิน พระแสงธารพระกร และชื่อ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” บนพื้นสีฟ้า

ระหว่างนี้ ได้มีรูปแบบของชื่อโดยใช้ตัวอักษรแบบอังกฤษโบราณ เพื่อใช้ในการต่าง ๆ รวมถึงในผลิตภัณฑ์ของ ธปท. จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

 

2555

alt

ตราสัญลักษณ์ได้ถูกออกแบบใหม่ ให้สะท้อนความเป็น ธปท. ที่น่าเชื่อถือ พร้อมยอมรับฟัง เข้าถึงได้ และมีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยลดทอนรายละเอียดของตราสัญลักษณ์ลง และกำหนดใช้สีน้ำเงิน ฟ้า และเทา ซึ่งมีในองค์ประกอบของตราสัญลักษณ์เดิม เป็นสีหลักขององค์กรในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความผูกพันกับองค์กรอย่างถูกต้องในกรอบวัฒนธรรมใหม่ของ ธปท. “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” ซึ่งจะสะท้อนความเชื่อถือต่อ ธปท. ในการทำหน้าที่

ผู้ยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องของชาติ – Patriarch

ผู้มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล – Visionary

ผู้สานประโยชน์ – Collaborator 

ในการรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินและสถาบันการเงินของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้มั่นใจในการดำรงชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดี “เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี อย่างยั่งยืนของไทย”

2560 และ 2565

alt

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบตราสัญลักษณ์พิเศษที่นำใช้ในกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในวาระสำคัญของ ธปท. ได้แก่ ครบรอบ 75 ปี และครบรอบ 80 ปี ธปท.