คำถามพบบ่อย

เกี่ยวกับหนี้

คำถาม-คำตอบ

ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ ธปท. ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้  
1. การผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ของบัตรเครดิต
1.1 ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568  
1.2 ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และร้อยละ 0.25 สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 
1.3 ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงร้อยละ 8 สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย  
2. การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (Debt Consolidation)
3. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม

  •  ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้บางกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และยังต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม การปรับขึ้น minimum payment เป็น 10% ตามกำหนดการเดิม อาจกระทบกับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ดังนั้น เบื้องต้นจึงผ่อนปรนให้เป็น 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
  • ธปท. จะติดตามและประเมินผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อไป

• ลูกหนี้ส่วนใหญ่ (เกินกว่า 90% ของลูกหนี้ทั้งหมด) สามารถจ่าย minimum payment ได้เกิน 8% แต่สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่อาจมีปัญหาสภาพคล่อง และไม่สามารถจ่าย minimum payment ที่ 8% ได้ จะสามารถเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้ได้ก่อนที่จะเป็น NPL เช่น เปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็น term loan และลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ หรือเมื่อลูกหนี้เป็น NPL แล้ว ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ดีกว่า เนื่องจากจ่ายค่างวดต่อเดือนลดลง ปิดจบหนี้ได้ไว และมีภาระดอกเบี้ยรวมน้อยกว่า
• การปรับลด minimum payment ลงไปที่ 5% จะส่งผลให้ปิดจบหนี้ได้ช้าลง และภาระดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายจะสูงขึ้น

ตัวอย่าง ยอดหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท และจ่าย minimum payment ที่ 5%* เมื่อเทียบกับการจ่าย minimum payment ที่ 8% จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมเพิ่มขึ้น จากประมาณ 5,700 บาท เป็น 10,200 บาท และใช้เวลาปิดหนี้นานขึ้นจาก 5 ปี เป็น 8 ปี
(*จ่าย minimum payment ที่ 5% หรือ 100 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า)

  • ลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำที่ 5% ได้ แต่ไม่ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible lending (RL) และลูกหนี้จะมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือด้วย
  • สำหรับลูกหนี้ที่ปัจจุบันไม่สามารถชำระขั้นต่ำที่ 5% ได้ ก็ยังสามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible lending (RL) ได้เช่นกัน ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องช่วยเหลือลูกหนี้ก่อนเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง เช่น เปลี่ยน revolving loan เป็น term loan ลดค่างวดและขยายระยะเวลา และหลังเป็น NPL อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนโอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์ และดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงลูกหนี้อาจเข้าร่วมในคลินิกแก้หนี้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี จะช่วยลดภาระค่างวดต่อเดือนลงได้อีก