แนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ธปท.ฝกส.(01)ว.113/2566 15 กุมภาพันธ์ 2566
ธปท. ออกนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม โดยครอบคลุมกรอบการดำเนินงานสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงในลำดับต้นของโลก รวมทั้งภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะต้องปรับตัวตามนโยบายและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลมากขึ้น
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ธปท. ได้เผยแพร่เอกสารทิศทางและแนวนโยบาย (directional paper) เรื่อง ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่ออธิบายในรายละเอียดเกี่ยวกับหลักคิด เป้าหมายและทิศทางแนวทางการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของ ธปท. โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services)
ธปท. จึงจัดทำแนวนโยบายเรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมโดยไม่สร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม รวมถึงมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินสามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมกรอบการดำเนินงานสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ (Governance) 2) การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) 3) การบริหารความเสี่ยง (Risk management) และ 4) การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure)