​ธปท. สนับสนุน NGFS Glasgow Declaration
และขอแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านความยั่งยืน

12 พฤศจิกายน 2564

สรุปสาระสำคัญ
ธปท. ในฐานะสมาชิกของ NGFS กำหนดแผนงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านความยั่งยืน ดังนี้
  1. การกำหนดทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน
  2. การผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการกำกับดูแล
  3. การนำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจ
  4. การเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประชาคมระหว่างประเทศ

ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมลงนามรับรองวาระ การพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 ขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) เรื่องการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ เนื่องในโอกาส การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เครือข่าย Network of Central Banks and Supervisors for Greening the Financial System (NGFS) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ NGFS Glasgow Declaration: Committed to Action เพื่อให้คำมั่นสัญญาในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะต่อไป โดย ธปท. ในฐานะสมาชิกของ NGFS ได้กำหนดแผนงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านความยั่งยืน ดังนี้

 

1. การกำหนดทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน

ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงิน ภายใต้คณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance)1  จะร่วมกันดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ที่ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งประกอบด้วย (1) การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและ เป็นมาตรฐานเดียวกัน (2) การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่มีคุณภาพ (3) การสร้างมาตรการจูงใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน (4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ผู้ให้และผู้ใช้บริการในภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน และ (5) การสร้างทรัพยากรบุคคลในภาคการเงินที่มีคุณภาพและมีองค์ความรู้ในการผลักดันงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน

 

ปัจจุบันคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงินอยู่ระหว่างการพัฒนานิยามและการจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy) โดยหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและให้มีแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่กรอบ Green Taxonomy ระยะแรก ได้ในปี 2565 ในขณะเดียวกัน ธปท. ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนจัดทำ ASEAN Taxonomy ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศสมาชิก รวมถึงการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภูมิภาค

 

[1] ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย

 

2. การผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการกำกับดูแล

ธปท. จะออกแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการธนาคารเพื่อความยั่งยืนในต้นปี 2565 เพื่อกำหนดความคาดหวังของ ธปท. ต่อการดำเนินการด้านความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดจาก Sustainable Banking Guidelines ที่สนับสนุนการผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร กระบวนการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร และแนวทางการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

3. การนำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจ

ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนโดยทางการ (Pillar 2) ให้ยืดหยุ่นและครอบคลุมความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินครอบคลุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อนำความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นปัจจัยในการประเมินสถานการณ์แบบจำลองและการทดสอบภาวะวิกฤติ (scenario analysis and stress testing) รวมถึงการนำปัจจัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจมหภาค เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบความเสี่ยงดังกล่าวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

 

4. การเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประชาคมระหว่างประเทศ

ธปท. จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน่วยงานกำหนดมาตรฐานสากล ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะในภาคการเงิน โดย ธปท. จะนำแนวปฏิบัติ NGFS มาปรับใช้เพื่อยกระดับบทบาทในการสนับสนุนการเงินสีเขียวและการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

0 2283 6687 / 0 2283 5665

Sustainability@bot.or.th