สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. (Retail CBDC): การศึกษาผลกระทบต่อภาคการเงินไทย เเละผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน  

​​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 60/2564 | 19 สิงหาคม 2564

สรุปสาระสำคัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน1 ต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน "The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand" ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test)

​นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้ช่วยผู้ว่าการ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน1 ต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน "The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand" ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test) โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การศึกษาผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย

 

ผลการศึกษาชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยจะมีลักษณะสำคัญ คือ (1) รูปแบบคล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย (2) อาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ (3) มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมาก ๆ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน

 

ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ e-money ได้บางส่วนในระยะต่อไป

2. ผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน

 

จากผลสำรวจ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC ข้างต้นเพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย 

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจบางส่วนเสนอเพิ่มเติมให้ ธปท. มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และการใช้งานของ Retail CBDC แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะความแตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน  

3. แผนการทดสอบ Retail CBDC เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot test)

 

จากผลการศึกษาและความเห็นที่ได้รับข้างต้น ธปท. จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน Retail CBDC ดังนี้
1) การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2 ปี 2565 

2) การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC ในกรณีต่าง ๆ โดย ธปท. จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ

 

ธปท. จะประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จากการทดสอบการใช้งานข้างต้น เพื่อให้มั่นใจว่า Retail CBDC จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
19 สิงหาคม 2564


1) ธปท. เปิดรับความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปผ่านทางเวปไซต์ ธปท. และได้รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มย่อย (focus group) จากสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักกฎหมาย และกลุ่มนักพัฒนาด้านเทคโนโลยี 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมงานสกุลเงินดิจิทัล ฝ่ายตลาดการเงิน สายตลาดการเงิน

+66 2356 7235

DigitalCurrencyTeam@bot.or.th