แนวทางดำเนินการเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านจากอัตราดอกเบี้ย THBFIX

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 84/2564 | 15 พฤศจิกายน 2564

สรุปสาระสำคัญ

ตามที่จะมีการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือร่วมกับคณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR (คณะทำงาน) และเห็นร่วมกันว่าสถาบันการเงินและผู้ร่วมตลาดควรจำกัดการทำธุรกรรมที่อ้างอิงกับ THBFIX และเร่งเปลี่ยนไปใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอื่นอย่างจริงจังโดยเร็ว (Active transition) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง THOR ซึ่ง ธปท. และคณะทำงานสนับสนุนให้ใช้เป็นโอกาสแรก

ตามที่จะมีการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือร่วมกับคณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR (คณะทำงาน) และเห็นร่วมกันว่าสถาบันการเงินและผู้ร่วมตลาดควรจำกัดการทำธุรกรรมที่อ้างอิงกับ THBFIX และเร่งเปลี่ยนไปใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอื่นอย่างจริงจังโดยเร็ว (Active transition) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง THOR ซึ่ง ธปท. และคณะทำงานสนับสนุนให้ใช้เป็นโอกาสแรก โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

 

1. ให้สถาบันการเงินทุกแห่งยุติการทำธุรกรรมอนุพันธ์ใหม่1 เช่น ธุรกรรม Interest Rate Swap (IRS) และธุรกรรม Cross Currency Swap (CCS) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เว้นแต่เป็นการทำเพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับธุรกรรมคงค้างเดิมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX อยู่ก่อนแล้วเท่านั้น 

 

2. ขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่งทยอยลดยอดคงค้าง (Notional outstanding) ธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่ครบกำหนดหลังปี 2568 ดังนี้

 

2.1  ทยอยลดยอดคงค้างรวมที่ครบกำหนดหลังปี 2568 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 50 และร้อยละ 25 ภายในกลางปีและสิ้นปี 2565 ตามลำดับ

 

2.2 ทยอยลดยอดคงค้างเฉพาะส่วนของลูกค้าที่ครบกำหนดหลังปี 2568 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 30 ภายในสิ้นปี 2565

 

ทั้งนี้ การทยอยปรับลดดังกล่าวให้เทียบกับยอดคงค้างธุรกรรม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564

 

แนวทางการเปลี่ยนผ่านจาก THBFIX ในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมพร้อมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เร็วขึ้น จากที่เคยขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินยุติการทำธุรกรรมใหม่ที่เป็นสินเชื่อ ตราสารหนี้ และหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564  ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณธุรกรรมอนุพันธ์คงค้างที่อ้างอิง THBFIX ไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นภาระต่อการบริหารจัดการและกลายเป็นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (operational risk) ในอนาคต อีกทั้งจะทำให้ทั้งสถาบันการเงินและผู้ร่วมตลาดมีเป้าหมายร่วมที่ชัดเจนขึ้นในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR มีสภาพคล่องมากขึ้น

 

ธปท. และคณะทำงาน ประเมินว่า จากนี้จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 สภาพคล่องของตลาดอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX จะโน้มลดลงเป็นลำดับ ดังนั้น ผู้ร่วมตลาดจึงควรเร่งปิดสัญญาเดิม (unwind position) หรือปรับสัญญาไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนช่วงกลางปี 2565 เนื่องจากยังเป็นช่วงที่ตลาดอนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX มีสภาพคล่องอยู่ โดย ธปท. จะช่วยสนับสนุนให้ยังมีราคาอ้างอิงที่สะท้อนภาวะตลาดได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษามูลค่าของสัญญาไว้ให้ใกล้เคียงเดิมได้มากที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ไม่สามารถปรับสัญญาไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นได้ก่อนการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX คู่สัญญาควรเพิ่มข้อความในสัญญา (fallback provision) ให้มีอัตราดอกเบี้ยทดแทน เช่น Fallback Rate (THBFIX)  ทั้งนี้ ผู้ร่วมตลาดควรตระหนักถึงข้อจำกัดของ Fallback Rate (THBFIX) รวมทั้งการเผยแพร่อัตราดังกล่าวที่จะมีให้จนถึงสิ้นปี 2568 เท่านั้น

 

ผู้ร่วมตลาดสามารถศึกษารายละเอียดแนวทางการเตรียมการรองรับการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX เพิ่มเติมที่ https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/Pages/ReferenceInterestAndEndOfUseLIBOR.aspx หรือ QR Code ด้านล่าง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
15 พฤศจิกายน 2564

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมมาตรฐานตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน

0 2283 5471

referencerate@bot.or.th