คำแนะนำของ ธปท. สำหรับธุรกิจที่มีสัญญาอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX

​​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 2/2566 | 13 มกราคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) หลังเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
  • ธปท. ได้สนับสนุนให้ธนาคารและธุรกิจคู่สัญญาเจรจาตกลงเพื่อเปลี่ยนสัญญาไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นก่อนการหยุดเผยแพร่ THBFIX มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาพบว่าการเจรจาเป็นไปอย่างล่าช้า
  • ธปท. จึงขอแนะนำให้ธุรกิจเร่งเจรจาตกลงเพื่อเปลี่ยนสัญญาไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นก่อนการหยุดเผยแพร่ THBFIX
  • ธปท. จะดำเนินการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) ถึงสิ้นปี 2568  

​ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) หลังเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่ง ธปท. ได้สนับสนุนให้ธนาคารและธุรกิจคู่สัญญาเจรจาตกลงเพื่อเปลี่ยนสัญญาไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นก่อนการหยุดเผยแพร่ THBFIX มาอย่างต่อเนื่องนั้น ที่ผ่านมา พบว่าการเจรจาเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการรอจังหวะที่ภาวะตลาดเอื้ออำนวย หรือการหาข้อสรุปร่วมทำได้ยากกรณีมีหลายผู้ให้กู้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องของธุรกรรมอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่ลดลงตามระยะเวลาที่เหลือ อาจทำให้โอกาสที่จะปรับเปลี่ยนสัญญาไม่ทันมีมากขึ้น 

 

ธปท. จึงขอแนะนำให้ธุรกิจเร่งเจรจาตกลงเพื่อเปลี่ยนสัญญาไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นก่อนการหยุดเผยแพร่ THBFIX ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอื่นที่จะนำมาใช้ทดแทน ได้แก่ Thai Overnight Repurchase Rate (THOR)  ที่ ธปท. ร่วมกับผู้ร่วมตลาดจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ของตลาดในระยะยาว รวมทั้ง Fallback Rate (THBFIX) ที่ ธปท. จัดทำให้เทียบเคียงได้กับอัตราดอกเบี้ย THBFIX เพื่อทดแทนระยะสั้น ซึ่งมาตรฐานสากลจะกำหนดให้ใช้ Fallback Rate (THBFIX) ได้เฉพาะในสัญญาคงค้างที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นได้ก่อนการหยุดเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX เท่านั้น และไม่สามารถทำธุรกรรมใหม่ที่อ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) ได้ จึงทำให้ในระยะต่อไป จะไม่มีราคาตลาดในการประเมินมูลค่ายุติธรรม (mark-to-market) ของธุรกรรมคงค้าง และ ธปท. จะดำเนินการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) ถึงสิ้นปี 2568 เท่านั้น 

 

ดังนั้น ธปท. สนับสนุนให้ธุรกิจพิจารณาปรับสัญญาไปอ้างอิง THOR เป็นลำดับแรก แต่หากยังไม่สามารถปรับสัญญาไปอ้างอิง THOR ได้ ขอให้ธุรกิจพิจารณาแก้ไขสัญญาโดยเพิ่มข้อความระบุอัตราดอกเบี้ยที่จะมีผลใช้ทดแทนเป็น Fallback Rate (THBFIX) ไปก่อน และในกรณีที่ธุรกิจได้ตัดสินใจเลือกใช้ Fallback Rate (THBFIX) โดยไม่เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไปเป็น THOR ก็ควรเร่งแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จในลักษณะเดียวกัน โดยการดำเนินการดังกล่าวควรให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่การเจรจาเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไม่ทันเวลาจนต้องไปใช้อัตราดอกเบี้ยสำรองที่ระบุอยู่เดิมในสัญญา ซึ่งอาจมีคุณลักษณะตลอดจนราคาต่างจากอัตราดอกเบี้ย THBFIX ได้มาก

 

ทั้งนี้ ธปท. ขอเน้นย้ำให้ธุรกิจทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดของการใช้อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) (ตามเอกสารแนบ) ตลอดจนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมแผนดำเนินการรองรับด้วย โดยสามารถปรึกษาธนาคารคู่สัญญาเพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติมได้

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
13 มกราคม 2566

เอกสารแนบ ข้อจำกัดของการใช้อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) 

 

ธุรกิจที่จะใช้อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) ต้องมั่นใจว่ามีความเข้าใจและยอมรับข้อจำกัดรวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ตลอดจนเตรียมแผนดำเนินการรองรับ โดยข้อจำกัดของการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) อาจสรุปได้ดังนี้

  • ธุรกิจจะไม่สามารถทำธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) เพื่อปิดความเสี่ยงธุรกรรมคงค้างเพิ่มเติมได้อีก  โดยแม้จะสามารถปิดความเสี่ยงได้บางส่วนโดยการทำธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิง THOR ทดแทน แต่ก็จะยังคงมีส่วนต่างระหว่าง Fallback Rate (THBFIX) และ THOR ที่ทำให้การปิดความเสี่ยงดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้อาจมีต้นทุนดอกเบี้ยในแต่ละงวดเพิ่มขึ้นได้
  • เนื่องจากไม่มีตลาดสำหรับอนุพันธ์อ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) ดังนั้น หากธุรกิจประสงค์จะยกเลิกธุรกรรมคงค้างที่อ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) ธนาคารคู่สัญญาอาจไม่สามารถจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการรับยกเลิกธุรกรรมดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจถูกสะท้อนในราคาที่จะใช้ในการยกเลิกธุรกรรม
  • เนื่องจากไม่มีตลาดสำหรับอนุพันธ์อ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) ทำให้ไม่มีราคาตลาดที่ใช้ในการคำนวณมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรมอนุพันธ์คงค้างอ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) และคู่สัญญาอาจต้องใช้ราคาที่ได้จากแบบจำลอง (model) โดยมูลค่าที่คำนวณได้อาจคลาดเคลื่อนกัน ซึ่งจะเพิ่มภาระในการเจรจาตกลงมูลค่ายุติธรรมเพื่อการวางเงินหลักประกัน (margin) ระหว่างคู่สัญญาอนุพันธ์ รวมถึงเพื่อการบันทึกบัญชีของธุรกิจ
  • หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายแสดงความยินยอมในการปรับสัญญาอนุพันธ์ตาม ISDA (International Swaps and Derivatives Association) แล้ว การคำนวณและชำระส่วนต่างดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญา ส่งผลให้สามารถทราบอัตราดอกเบี้ยในแต่ละงวดได้ ณ ปลายงวด ซึ่งมีเวลา 2 วันทำการก่อนวันชำระเงิน โดยหากต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องเจรจากับคู่สัญญาเพื่อแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม
  • หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายแสดงความยินยอมในการปรับสัญญาอนุพันธ์ตาม ISDA (adhere to ISDA protocol) แล้ว หลังจากสิ้นปี 2568 ซึ่ง ธปท. หยุดเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) ธุรกรรมอนุพันธ์คงค้างที่ยังไม่ครบกำหนดจะเปลี่ยนไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR โดยไม่มีการปรับด้วยส่วนต่าง (spread adjustment) ใด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสัญญาอีกครั้งตามภาวะตลาดในขณะนั้น
20230113
20230113
20230113
20230113
20230113
20230113

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายตลาดการเงิน

+66 0 0 2283 6321

referencerate@bot.or.th