แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม ปี 2565 และไตรมาสที่ 4 ปี 2565

​​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 5/2566 | 31 มกราคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • ​ในเดือนธันวาคม 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยมีแรงส่งจากภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ซึ่งสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางทรงตัว
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อยจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ 

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียและรัสเซีย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งรายได้เกษตรกรในบางภูมิภาคที่ชะลอลงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับดีขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดสินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง และทุเรียน (2) หมวดยานยนต์เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทยอยคลี่คลาย และ (3) หมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้นบ้างตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ผลิต

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดเคมีภัณฑ์ ที่ลดลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ขณะที่หมวดยานยนต์ปรับลดลงหลังจากได้ผลิตไปมากแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การผลิตบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมหลังจากได้ปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่ในช่วงก่อนหน้า

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะที่หมวดก่อสร้างปรับลดลงจากทั้งยอดขายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตามการกลับมาผลิตปิโตรเลียมหลังการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภค

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน รวมทั้งราคาผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นบวกต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาเกินดุลเล็กน้อยตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง 

 

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามการเกินดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มกราคม 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th