ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารกลางของประเทศกลุ่มอาเซียน-5 เข้าร่วมโครงการ “Nexus” ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (multilateral payment linkage)

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 14/2566 | 23 มีนาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • นวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขอุปสรรคของการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ
  • การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีในรูปแบบเครือข่าย
  • การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีระหว่างไทยและสิงคโปร์

ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ธนาคารกลางของประเทศกลุ่มอาเซียน-5 ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ร่วมกับ BIS Innovation Hub Singapore Centre ได้ตกลงที่จะร่วมพัฒนาระบบ Nexus ที่เชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีของแต่ละประเทศ1  (instant payment) ในลักษณะพหุภาคี โดยจะเป็นการทดลองเพื่อใช้งานจริง โดยก่อนหน้านี้ BIS และกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Eurosystem) กับธนาคารกลางมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ทดลองระบบต้นแบบ (prototype) ที่เชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันที โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือสำเร็จไปแล้ว

 

ระบบ Nexus เป็นนวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขอุปสรรคของการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งด้านค่าใช้จ่ายที่สูง ความล่าช้าและการเข้าถึงยาก ด้วยการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของหลายประเทศเข้าด้วยกันและมีมาตรฐานรองรับ ทำให้การทำธุรกรรมง่ายขึ้น ลดเวลาและต้นทุนลง โดย BIS Innovation Hub Singapore Centre และธนาคารกลางทั้ง 5 แห่ง จะร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบ รวมทั้งกำหนดกระบวนการต่าง ๆ ให้รองรับการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบพหุภาคีดังกล่าว

 

เมื่อการทดลองและการพัฒนาดำเนินการแล้วเสร็จ การเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินแบบทันทีของแต่ละประเทศผ่านระบบ Nexus จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประชาชนใน 5 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน  ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค ที่ทั้ง 5 ประเทศอาเซียนได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และจะทยอยขยายผลไปยังประเทศต่าง ๆ 

 

Ms. Cecilia Skingsley, Head of BIS Innovation Hub กล่าวว่า "รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในความสำเร็จของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในระยะทดลอง ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของ Nexus และเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบร่วมกับกลุ่มธนาคารกลางพันธมิตรในระยะถัดไปของโครงการ"

 

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า "โครงการ Nexus เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีกับหลายประเทศในคราวเดียว เพื่อสร้างเครือข่ายการชำระเงินที่สามารถขยายไปได้ทั่วโลก ซึ่ง ธปท. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญของโครงการนี้ ในการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการพัฒนาระบบชำระเงินกับประเทศต่าง ๆ และต่อยอดสู่การขยายการเชื่อมโยงระบบกับหลายประเทศได้พร้อมกัน ทั้งนี้ Nexus จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ สำหรับการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ และให้ประสบการณ์การใช้งานที่คล้ายคลึงกับบริการภายในประเทศ"

 

BIS และธนาคารกลางทั้ง 5 แห่ง มองว่า Nexus มีศักยภาพที่จะเป็นระบบที่ใช้ได้จริงทั่วโลก โดยจะจัดตั้งคณะที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยผู้แทนธนาคารกลางและผู้ให้บริการระบบการชำระเงินจากหลายภูมิภาค เพื่อต่อยอดขยายขอบเขตโครงการไปสู่ภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
23 มีนาคม 2566

 

 


1) สำหรับไทยคือระบบชำระเงินรายย่อยพร้อมเพย์

 

แนวคิดของ Nexus

ปัจจุบันมีระบบการชำระเงินแบบทันทีมากกว่า 60 ระบบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ทำให้ประชาชนสามารถรับและส่งเงินระหว่างกันโดยใช้เวลาไม่กี่วินาที อย่างไรก็ดี ระบบชำระเงินแบบทันทีดังกล่าวมักใช้กับทำธุรกรรมโอนเงินภายในประเทศเท่านั้น ส่วนการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศนั้นส่วนใหญ่ยังช้า แพง และขาดความโปร่งใส ความพยายามที่จะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างระบบการชำระเงินแบบทันทีเป็นคู่ ๆ ย่อมมีต้นทุนสูงและมีความซับซ้อน ยิ่งมีจำนวนประเทศต้องการเชื่อมโยงมากขึ้น ทำให้จำนวนครั้งในการเชื่อมโยงมากขึ้นเป็นทวีคูณ

 

แนวคิดของ Nexus คือ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีในรูปแบบเครือข่าย ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยหากระบบการชำระเงินแบบทันทีของประเทศใดต้องการเข้าร่วมระบบ Nexus สามารถทำการเชื่อมโยงเข้ากับระบบ Nexus เพียงครั้งเดียว จะทำให้เชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ในเครือข่ายได้ด้วย

ประวัติการพัฒนาโครงการ Nexus

โครงการ Nexus ริเริ่มโดย BIS โดยมีต้นแบบจากการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีระหว่างไทยและสิงคโปร์ (PromptPay - PayNow) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีคู่แรกของโลก และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 โดยในปี 2565 BIS Innovation Hub Singapore Centre ได้จัดทำ prototype และประสบความสำเร็จในการทดสอบการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีระหว่างระบบ Eurosystem กับระบบของมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือในการโอนเงิน

 

ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ธนาคารกลางของประเทศกลุ่มอาเซียน-5 ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ร่วมกับ BIS Innovation Hub Singapore Centre ได้ตกลงที่จะร่วมพัฒนาระบบ Nexus ที่เชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบทันทีของแต่ละประเทศ1 (instant payment) ในลักษณะพหุภาคี เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะทำให้ระบบการชำระเงินแบบทันทีของแต่ละประเทศสามารถมีการเชื่อมโยงกัน โดยช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศของประชาชนทั้ง 5 ประเทศ และสามารถขยายผลไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ในระยะต่อไป


 

1) สำหรับไทยคือระบบชำระเงินรายย่อยพร้อมเพย์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน E-mail

crossborderpayments@bot.or.th