แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 18/2566 | 31 มีนาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • ​เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน ส่วนภาคบริการปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาผัก และผลไม้ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ำตาลและน้ำมันปาล์มดิบ ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับอุปทานของประเทศผู้ส่งออกหลักลดลง และการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ โลหะและเครื่องใช้ไฟฟ้าตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลง

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ (1) หมวดเคมีภัณฑ์ตามอุปสงค์จากจีนและในประเทศที่เพิ่มขึ้น (2) หมวดปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบการผลิตและส่งออกสินค้า และ (4) หมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการผลิตน้ำตาล ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง เนื่องจากมีการเร่งผลิตรถกระบะไปมากในช่วงก่อนหน้า

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างทรงตัวจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตามค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนหลังทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมาไทยได้และนักท่องเที่ยวอินเดียหลังทางการยกเลิกมาตรการให้ผู้ที่เดินทางจากไทยต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานด้านการศึกษาที่เร็วกว่าปกติ และตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาผัก และผลไม้ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าหลังตลาดเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มีนาคม 2566

 

image

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th

เอกสารแถลงข่าวทั้งหมด