แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม ปี 2566

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 44/2566 | 29 กันยายน 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยว อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงบ้าง หลังจากเร่งขยายตัวในเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลง ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวจากรายจ่ายประจำ
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน ตามราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลง ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาเนื้อสัตว์จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานยังปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กลับมาเพิ่มขึ้น หลังการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรลดลงตามการส่งออกทุเรียนไปจีน หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งเชื้อเพลิง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตหมวดที่ปรับดีขึ้นได้แก่ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาล 2) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตามรอบการผลิต และ 3) หมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าหมวดยานยนต์ลดลง จากการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะหลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงส่งผลให้ชาวจีนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย ตามอุปสงค์การเดินทางท่องเที่ยวที่ยังมีต่อเนื่อง สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม หลังเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูง ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในปีก่อน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลง ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาเนื้อสุกรตามอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ 2) การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ต่ำกว่าตลาดคาด และ 3) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

29 กันยายน 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th