แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน ปี 2566

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 54/2566 | 28 ธันวาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่กิจกรรมในภาคบริการทรงตัว ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงาน ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินในประเทศ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้นจากหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงโดยเฉพาะรถกระบะบรรทุก สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับลดลงตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า รวมทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ยุโรป และสหราชอาณาจักร สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปออสเตรเลีย และสินค้าเกษตรแปรรูปตามการส่งออกน้ำมันพืชไปอินเดีย ซึ่งเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กไปสิงคโปร์ จากปัจจัยชั่วคราวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้าง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ และฮ่องกง

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดเชื้อเพลิงตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบินตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อการลงทุน อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงปรับลดลงตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากอาเซียน และเหล็กจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเช่นกันหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน

 

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ 2) หมวดยานยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และ 3) หมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น อย่างไรก็ดี หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการผลิตสินค้า

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางทรงตัว โดยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ขยายตัวถูกชดเชยกับการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของงบกลางที่หดตัว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงาน ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ระดับราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจะยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

28 ธันวาคม 2566

2023_11_30_รายงานรายเดือน_พฤศจิกายน-66

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th

เอกสารแถลงข่าวทั้งหมด