แถลงข่าวร่วม "การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1/2567"
แถลงข่าวร่วม | 16 กุมภาพันธ์ 2567
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงาน* ได้จัดการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2
การจัดทำ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและภาครัฐมีมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเป็นแนวทางอ้างอิงในการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสากลและเหมาะสมกับบริบทของไทย อีกทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการจัดสรรเงินทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเฉพาะมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Climate change mitigation) ในภาคพลังงานและภาคการขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดก่อน และได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566
สำหรับการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 นี้ เป็นการขยายขอบเขตเพิ่มเติมให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการจัดการของเสีย และภาคการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะทำงานฯ และที่ปรึกษาจาก Climate Bonds Initiative (CBI) DNV และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 คณะทำงานฯ จะมีการหารือและเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จากสาธารณชนประมาณช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567
*หน่วยงานภาครัฐและเอกชน 26 หน่วยงาน ได้แก่
1. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) |
2. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน |
3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน |
4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม |
5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม |
6. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
7. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร |
8. กรมวิชาการเกษตร |
9. กรมการข้าว |
10. กรมป่าไม้ |
11. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช |
12. กรมปศุสัตว์ |
13. กรมประมง |
14. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
15. กรมโยธาธิการและผังเมือง |
16. กรมควบคุมมลพิษ |
17. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
18. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
19. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมฯ |
20. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย |
21. สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย |
22. สมาคมอาคารชุดไทย |
23. สภาวิศวกร |
24. สมาคมธนาคารไทย |
25. สมาคมธนาคารนานาชาติ |
26. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ |
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
16 กุมภาพันธ์ 2567