แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 08/2567 | 29 กุมภาพันธ์ 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนแต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้าโดยเฉพาะ 1) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปยังอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกอุปกรณ์สื่อสารไปฮ่องกงและสหภาพยุโรป และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์ ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมีไปยังอินเดียและญี่ปุ่น แม้การส่งออกปิโตรเคมีไปจีนยังลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกในบางหมวดปรับลดลง อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และชิ้นส่วนประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ไปสหรัฐฯ

 

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนน้อยลง โดยการผลิตหมวดยานยนต์หดตัว แต่ปรับดีขึ้นบ้างจากการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งมอบ ประกอบกับหมวดปิโตรเลียมหดตัวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดขยายตัวจากปีก่อน อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สอดคล้องกับยอดขายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น และหมวดยางและพลาสติก จากสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าที่เริ่มปรับลดลง

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น หลังลดลงในเดือนก่อน ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานเป็นสำคัญ สะท้อนความต้องการลงทุนที่มีอยู่ต่อเนื่อง  

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ลดลง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติทั้งจากด้านปริมาณและราคา และสินค้าอุปโภคบริโภคตามการนำเข้าสินค้าเวชภัณฑ์ รวมถึงผักผลไม้และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทนในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษี ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ 

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวลาว ยุโรปไม่รวมรัสเซีย และอินเดีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ จีนและมาเลเซีย ชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อรอเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนวันพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวต่อนักท่องเที่ยวระยะสั้น 

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาไข่ไก่และข้าวที่ปรับลดลง ด้านหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปและหมวดเครื่องใช้ส่วนตัวยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง โดยการจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้า แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

29 กุมภาพันธ์ 2567

2024_02_29_รายงานรายเดือน_มกราคม-67

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th

เอกสารแถลงข่าวทั้งหมด