แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม 2567 และไตรมาสที่ 1 ปี 2567

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 17/2567 | 30 เมษายน 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยชะลอลงในเดือนมีนาคม จากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt หมดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการ และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการทยอยลงทุนของธุรกิจใหม่ ๆ การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมทรงตัว โดยบางอุตสาหกรรมยังได้รับแรงกดดันจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากการซื้อสินค้าคงทน แม้การบริโภคสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า 
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน จากหมวดอาหารสดที่ผลของฐานสูงในปีก่อนเริ่มหมดไป ประกอบกับราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้น และจากหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาในหมวดของใช้ส่วนตัวลดลงตามการทำโปรโมชันของผู้ประกอบการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องติดตามการจ้างงานในภาคการผลิต สำหรับไตรมาสที่ 1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อ พื้นฐาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามรายรับภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ตลาดแรงงานปรับแย่ลงเล็กน้อยตามการจ้างงานในภาคการผลิตเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม โดยเฉพาะมาเลเซียและกลุ่มตะวันออกกลางที่เริ่มเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงบ้างหลังเร่งไปในช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน จากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt ที่หมดลง ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงลดลงจากสถาบันการเงินที่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับการใช้จ่ายในหมวดบริการลดลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่กังวลเรื่องค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันเบนซิน 

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงต่อเนื่องตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะพื้นที่ฯ เพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน และเพื่อการพาณิชย์

 

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในหลายหมวด ตามการผลิตรถยนต์ และวัสดุก่อสร้างที่อุปสงค์ในประเทศลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับการผลิตน้ำตาลที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงมากจากปัญหาภัยแล้ง และหลายสินค้าได้เร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมที่เร่งผลิตก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า รวมทั้งการผลิตปุ๋ยเคมี ขณะที่การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนทรงตัวจากเดือนก่อน

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นในหลายหมวด หลังปรับลดลงในเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียและตะวันออกกลาง และการส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ 2) ปิโตรเลียม ตามการส่งออกไปเวียดนาม และมาเลเซีย และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมีและปิโตรเคมี ตามการส่งออกไปอินเดียและจีน ทั้งนี้ แม้การส่งออกไปจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับในอดีต ขณะที่การส่งออกเหล็กปรับลดลงตามการส่งออกไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงตามการนำเข้าอัญมณี และเฟอร์นิเจอร์เป็นสำคัญ

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานด้านการศึกษาตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการใช้จ่ายเพื่อการจัดการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนจากหมวดอาหารสดที่ผลของฐานสูงในปีก่อนเริ่มหมดไป ประกอบกับราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้น และจากหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาในหมวดของใช้ส่วนตัวลดลงตามการทำโปรโมชันของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดอาหาร อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารบริโภคนอกบ้านยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการจ้างงานในภาคการผลิตและภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจลดลงตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ เนื่องจากมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากและได้เร่งระดมทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะหนึ่ง และยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าคาด

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

30 เมษายน 2567

รายงานรายเดือนมีนาคม67

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th

เอกสารแถลงข่าวทั้งหมด