ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 25/2567 | 13 มิถุนายน 2567

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงปัญหาภัยทุจริตทางการเงินว่า ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในการดำเนินการสำคัญ ได้แก่ การออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อจัดการบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงินและถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินเพื่อสนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง พรก. ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด ในครั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด

 

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่

 

กลุ่มที่ 1: การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ "บัญชี" เป็นระดับ "บุคคล" รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1) การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัย โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) (2) ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) และ (3) ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้งก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านั้น ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น

 

2) การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไขไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์และที่สาขา

 

ในการนี้ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ CFR มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

กลุ่มที่ 2: การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น

 

ธปท. กำหนดให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อควงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567

 

ธปท. มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพและดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลของมาตรการ รวมถึงพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศต่อไป

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

13 มิถุนายน 2567 

คำถาม-คำตอบ

ประชาชนทั่วไปที่ใช้งานปกติจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมาตรการนี้มุ่งเป้าจัดการบัญชีม้า เช่น บุคคลที่ ปปง. กำหนดรายชื่อว่ามีความเสี่ยงสูง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พรก. รวมถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมการใช้บัญชีที่ผิดปกติเท่านั้น 

ถ้ามีรายชื่อเป็นบัญชีม้า การเปิดบัญชีใหม่จะต้องถูกธนาคารตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น รวมไปถึงธนาคารอาจพิจารณาไม่เปิดบัญชีใหม่ให้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นบัญชีที่ใช้เพื่อยังชีพ เช่น บัญชีเงินเดือน บัญชีรับเงินสวัสดิการรัฐ เป็นต้น

เมื่อผู้เสียหายแจ้งผ่าน AOC 1441 หรือธนาคารแล้ว ข้อมูลเส้นทางการเงินจะถูกนำเข้าระบบ CFR (Central Fraud Registry) โดยทุกธนาคารจะระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีบุคคลนั้นทันทีที่ได้รับข้อมูล และระงับต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าของบัญชีจะมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงแบบเข้มข้นที่สาขาธนาคาร ปัจจุบันแต่ละธนาคารจะเห็นข้อมูลเส้นทางการเงินของตนเอง สำหรับการแลกเปลี่ยนให้ทุกธนาคารเห็นรายชื่อข้ามธนาคารเพื่อดำเนินการดังกล่าวได้ จะเริ่มภายใน 31 กรกฎาคม นี้

กรณีบุคคลต่างด้าว ธนาคารจะมีกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของลูกค้า หากพบข้อสงสัยหรืออาจเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น ไม่มีหนังสือจ้างงานมาเป็นหลักฐานประกอบการเปิดบัญชี เป็นต้น ธนาคารสามารถพิจารณากำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีเพิ่มเติม เช่น กำหนดวงเงินการทำธุรกรรมต่อวัน ไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น และหากไม่สามารถตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า จะนำบัญชีไปใช้เป็นเครื่องมือในการโอน-รับโอนเงินที่ได้จากกระทำผิด ธนาคารสามารถพิจารณาไม่เปิดบัญชีให้บุคคลนั้นได้

มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับบุคคลที่ใช้ซิมและ Mobile Banking เพื่อนำไปใช้ในทางทุจริต (ซิมผีบัญชีม้า) อย่างไรก็ดี กรณีบุคคลที่มีชื่อซิมกับชื่อเจ้าของ Mobile banking ไม่ตรงกัน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง แต่โดยปกติธนาคารจะมีข้อมูลจากกระบวนการรู้จักลูกค้า (KYC) อยู่แล้ว หากธนาคารเห็นว่า ไม่ใช่กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะนำบัญชีไปใช้กระทำผิด ลูกค้าก็จะสามารถใช้บริการ Mobile Banking ตามปกติต่อไปได้ ซึ่งขอย้ำว่า กระบวนการพิสูจน์ตัวตนต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยง หากไม่มีความเสี่ยง ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ

อินโฟกราฟิก

info_มาตรการ
คำศัพท์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธปท.

0 2283 6597, 0 2283 6559

ITSupervision@bot.or.th

บัญชีม้า ภัยทางการเงิน