แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน 2567 และไตรมาสที่ 2 ปี 2567

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 30/2567 | 31 กรกฎาคม 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาส 2 ยังอยู่ในทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนชะลอลงจากจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง หลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อยู่ในช่วงปลายฤดูกาล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สินค้าคงคลังยังสูง สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัวถูกทอนลงด้วยหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาผักลดลงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งในภาคบริการและการผลิต

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน และยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดียปรับเพิ่มขึ้น สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้น จากยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน สินค้ากึ่งคนทน และหมวดบริการลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย โดยการใช้จ่ายหมวดบริการลดลงสอดคล้องกับกิจกรรมในภาคท่องเที่ยว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงลดลงจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกทุเรียนไปจีนที่ผลผลิตทุเรียนของไทยลดลงหลังเข้าสู่ช่วงปลายฤดูการผลิตในภาคตะวันออก 2) อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปฮ่องกงและญี่ปุ่น รวมทั้งการส่งออกแผงวงจรรวมไปมาเลเซียและฮ่องกง และ 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดียและน้ำตาลไปอาเซียน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิรถกระบะไปออสเตรเลีย รถยนต์นั่งไปอาเซียน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการนำเข้า 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารและวัสดุโลหะ 2) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและหนังสัตว์ และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเชื้อเพลิงลดลงเล็กน้อยตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงจากทั้งด้านปริมาณและราคา

 

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และผู้บริโภคบางส่วนยังไม่ตัดสินใจซื้อเนื่องจากรอดูสถานการณ์การปรับลดราคารถยนต์จากการแข่งขันของผู้ผลิตที่รุนแรงขึ้น รวมถึงหมวดยางและพลาสติกที่ลดลงจากการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก อย่างไรก็ดี การผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาผลิตตามปกติ หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวในเดือนก่อน

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง โดยยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง แม้การนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์จะลดลง สำหรับการลงทุนด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นตามซีเมนต์และเสาเข็มคอนกรีต ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลง

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านชลประทาน สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐหมดลง ขณะที่ราคาผักลดลงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งในภาคบริการและการผลิต สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากได้เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และการระดมทุนผ่านสินเชื่อที่ลดลงจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ และที่พักแรมเป็นสำคัญ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นเวลานาน 

 

ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 มีทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่การขยายตัวยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสก่อน ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นกัน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกและการผลิตในบางอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากรายจ่ายประจำ หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากหมวดพลังงานตามการทยอยลดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และจากหมวดอาหารสดตามอุปทานผักและเนื้อสุกรที่ลดลง ขณะที่อัตราเฟ้อพื้นฐานลดลงจากราคาอาหารสำเร็จรูปและของใช้ส่วนตัว ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามการส่งออกสินค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนกลับมาขาดดุลจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงและการส่งกลับกำไรตามฤดูกาล สำหรับการจ้างงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนตามการจ้างงานในภาคบริการเป็นสำคัญ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

31 กรกฎาคม 2567

รายเดือน

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th