แถลงข่าวร่วม "การเผยแพร่มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy)
ระยะที่ 2 ฉบับสมบูรณ์"
แถลงข่าวร่วม | 27 พฤษภาคม 2568
คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (ตามรายละเอียดด้านล่าง) ได้ร่วมกันจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 21
Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ครอบคลุมภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพิ่มเติมจาก Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ที่ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคขนส่ง โดยการจัดทำครั้งนี้ได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ถึง 10 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
คณะทำงานฯ ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการและบางส่วนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้เพิ่มมาตรฐานหรือเครื่องหมายรับรองด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และคณะทำงานฯ ได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสาร Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ได้ตั้งแต่ วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านทางเว็บไซต์ สส. ธปท. ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานในคณะทำงานฯ และช่องทางอื่น ๆ ที่จะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ มีกำหนดการจัดงานสัมมนา Thailand Taxonomy 2.0: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30-16.00 น. เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ Thailand Taxonomy ให้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานสัมมนาดังกล่าวผ่านช่องทาง Facebook ของ สส. ธปท. ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ท้ายนี้ คณะทำงานฯ ขอขอบคุณทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ผ่านมา และหวังว่า ภาคส่วนต่าง ๆ จะนำ Thailand Taxonomy ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายหรือวางกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้ประกอบการพิจารณาหาแหล่งเงินทุน และบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่นและทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
27 พฤษภาคม 2568
[1] Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ครอบคลุมวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ ดังนี้ 1. การลดก๊าซเรือนกระจก 2. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 4. การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน 5. การป้องกันและควบคุมมลพิษ 6. การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมการจัดทำ Thailand Taxonomy 32 หน่วยงาน ได้แก่ |
1. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) |
2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
3. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน |
4. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน |
5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม |
6. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม |
7. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
8. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร |
9. กรมวิชาการเกษตร |
10. กรมการข้าว |
11. กรมป่าไม้ |
12. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช |
13. กรมปศุสัตว์ |
14. กรมประมง |
15. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
16. กรมโยธาธิการและผังเมือง |
17. กรมควบคุมมลพิษ |
18. องค์การจัดการน้ำเสีย |
19. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
20. กรมอนามัย |
21. กรุงเทพมหานคร |
22. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
23. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสภาอุตสาหกรรมฯ |
24. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย |
25. สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย |
26. สมาคมอาคารชุดไทย |
27. สภาวิศวกร |
28. สถาบันอาคารเขียวไทย |
29. สมาคมธนาคารไทย |
30. สมาคมธนาคารนานาชาติ |
31. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ |
32. คณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย |
ผู้สนับสนุนการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ได้แก่ |
1. บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) |
2. องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) |
3. ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) |
ที่ปรึกษาการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ได้แก่ |
1. Climate Bonds Initiative (CBI) |
2. DNV |
3. The Creagy Company Limited |
4. Carbon Institute for Sustainability (CBiS) |
5. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute Foundation: TDRI) |