แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 ปี 2567
04 พฤศจิกายน 2567
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)
ตามราคายางพาราที่ชะลอตัวตามความต้องการของต่างประเทศที่ลดลงหลังเร่งไปในไตรมาสก่อน และราคาข้าวเปลือกที่ชะลอตัว หลังจากสถานการณ์ผลผลิตข้าวโลกปรับดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตโดยรวมทรงตัว
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ โดยการผลิตน้ำตาลทรายขาวขยายตัว ตามคำสั่งซื้อที่มีอย่างต่อเนื่องของประเทศสหรัฐอเมริกา และการผลิตยางพาราแปรรูปที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของจีนหลังจากชะลอการซื้อในช่วงก่อนหน้า
ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล วันหยุดยาวที่มีหลายช่วงโดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มากขึ้นทำให้มีขนาดงานที่ใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้น กอปรกับการเร่งใช้งบประชุมสัมมนาภาครัฐในช่วงปลายไตรมาส ช่วยให้อัตราการเข้าพักแรมปรับเพิ่มขึ้น
การบริโภคภาคเอกชน ทรงตัว
ตามความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณสมบัติของผู้กู้ที่ด้อยลงยังคงกดดันให้การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันขยายตัวสูงจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายไตรมาส
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง
ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาหดตัวในทุกองค์ประกอบ ขณะที่การลงทุนด้านก่อสร้างกลับมาขยายตัว จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ
การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาหดตัว
ตามการส่งออกที่หดตัว จาก จีน ในสินค้าทุเรียนสด หลังสิ้นสุดฤดูกาลผลผลิตของทเรียนภาคตะวันออก และผลผลิตทุเรียนภาคใต้ที่ลดลงจากภัยแล้ง รวมถึงการส่งออกไป สปป. ลาว ที่หดตัว ในหมวดปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์
ขณะที่การนำเข้าที่ขยายตัวเล็กน้อย จาก จีน ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ
ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มก่อสร้าง หลังการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2567
คาดว่า ขยายตัว ตามผลของแรงส่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปลายปีที่ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัว รวมทั้งการเบิกจ่ายงบผูกพันข้ามปีงบประมาณของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัวจากราคาที่ลดลงตามสถานการณ์ผลผลิตโลกที่ปรับดีขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย
4 พฤศจิกายน 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th
หมายเหตุ :
สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ