สุนทรพจน์งานสัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” 

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” โดยสรุปประเด็นได้ดังต่อไปนี้ 

1. เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

  • บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นการดูแลอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน กฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ล้วนมีเป้าหมายสุดท้าย คือ เพื่อให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในกฎหมายหน้าที่ ธปท. ทั้งการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ก็เพื่อต้องการให้คนไทยมีความกินดีอยู่ดีในแบบที่ยั่งยืน

2. องค์ประกอบของความกินดีอยู่ดีที่ยั่งยืน

  • เวลาพูดถึงความกินดีอยู่ดีต้องพูดถึงส่วนรวม ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเน้นถึงความยั่งยืน ไม่ใช่ระยะสั้นที่สร้างผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ แต่ช่วยให้อยู่ได้จริงและดีขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืนในระยะยาว
  • ถามว่า ต้องมีอะไรเพื่อให้ชีวิตของคนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งมีได้หลายอย่าง เช่น มีความปลอดภัย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่ง ธปท. มุ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินที่ให้ชีวิตของคนมีความกินดีอยู่ดี โดยมี 2 เรื่อง

1) รายได้คนต้องเพียงพอสำหรับรายจ่ายโดยรวม แม้ในระยะสั้นรายได้อาจน้อยกว่ารายจ่ายบ้างเป็นครั้งคราว
โดยอาจจะต้องนำเงินออมที่มีออกมาใช้หรือกู้ยืมบ้าง แต่ในระยะยาว ถ้าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีพอต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

    o   ในภาพรวมประเทศ รายได้ของประเทศโตช้าลง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เดิมที่เคยอยู่ที่ 4-5% ช่วงหลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งประสิทธิภาพแรงงานที่ไม่ค่อยโต ควบคู่กับอัตราการเติบโตของแรงงานที่ชะลอลง จึงเห็นศักยภาพของไทยจริง ๆ จะอยู่แค่ประมาณ 3% ความหมายของศักยภาพในที่นี้ หมายถึง เราผลิตได้เท่าไหร่ บางช่วงเศรษฐกิจดี อาจโตสูงกว่านั้นได้ แต่ท้ายที่สุด ถ้าศักยภาพการผลิตยังได้เท่านี้ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจก็จะอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งสูงไม่พอ เพราะ 3% เป็นอัตราการเติบโตในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ แต่รายได้ของไทยยังไม่สูง จึงจำเป็นต้องมีการเติบโตในระยะยาวที่สูงกว่านี้

    o   อีกปัญหา คือ ถ้าดูว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ประโยชน์ตกที่ไหน จะเห็นว่ามีการกระจุกตัว ถ้าดูแนวโน้มระยะยาว แล้วดูว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตเท่าไหร่ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตของกำไรบริษัท และกระจุกตัวในแง่ของกลุ่มด้วย กลุ่มรายได้สูงจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มากกว่า เห็นได้จาก 40%[1] ของการบริโภคที่โตในปี 2566 มาจากการบริโภคเพียง 10% ของกลุ่มที่มีรายได้สูง สะท้อนความฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่เปลี่ยนแปลงไป เผชิญกับแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากจีน

    o   ด้านครัวเรือนภาคอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่ายเช่นกัน มีส่วนต่างรายได้รายจ่ายต่อเดือนเป็นลบ โดยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอีสานน้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาทต่อเดือน ซึ่งมีส่วนต่างรายได้รายจ่ายเป็นลบมากกว่าทุกภาค[2] นอกจากนี้ ครัวเรือนในภาคอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น[3] ที่ 5,024 บาทต่อเดือน แรงงานกว่า 50% อยู่ในภาคเกษตร[4] พึ่งพารายได้เพียงรอบเดียวต่อปี เพราะมีสัดส่วนการปลูกพืชไร่ที่มีรอบการเพาะปลูกเป็นรายปีสูง โดยเฉพาะข้าว[5] ผลผลิตขึ้นอยู่กับฟ้าฝน มีสัดส่วนภาคเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน เพียง 5%[6] และผลิตภาพต่ำ โดยผลผลิตต่อไร่[7] ในปี 65 ไทย 478 กก./ไร่ เวียดนาม 963 กก./ไร่ อินเดีย 677 กก./ไร่

2) หนี้สินต้องน้อยกว่าสินทรัพย์ 

    o   ในภาพรวมประเทศ ครัวเรือนมีภาระหนี้สูง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ไตรมาส 1 ปี 67 อยู่ที่90.8% และที่น่าเป็นห่วงที่ทำให้การแก้ปัญหายากกว่าประเทศอื่น คือ สัดส่วนของหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้และไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต สูงถึง 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือน ขณะที่ประเทศอื่น หนี้หลักคือการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งข้อดี คือ หากราคาบ้านเพิ่มขึ้น ฐานะการเงินโดยรวมจะไม่แย่ เพราะสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าหนี้ที่มี 

    o   ด้านภาคครัวเรือนเกษตร หนี้ของครัวเรือนเกษตรน่าเป็นห่วงกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคอีสาน เป็นที่มาของสัมมนาในวันนี้ ที่ช่วงต่อ ๆ ไปจะมาขยายความให้ชัดเจน ทั้งเรื่องหนี้ก้อนโต หนี้โตเร็ว หนี้หลายแหล่ง มีภาระดอกเบี้ยสูง และติดในวงจรหนี้ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้

3. แนวทางไปสู่ความกินดีอยู่ดีภาคอีสาน

  • ถ้าดูรายจ่ายเทียบรายได้ที่มาจากการทำงานไม่รวมสวัสดิการของครัวเรือนภาคอีสาน จะเห็นชัดว่า (1) ปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้อยู่กับเรามายาวนาน (2) ปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่ายเป็นลบและถ่างขึ้น และเห็นอัตราการเติบโตของรายจ่ายสูงกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ (3) สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ ถึงแม้เราจะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่า เราจะแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนครบวงจร ต้องแก้ปัญหารายได้รายจ่ายให้ได้ด้วย ไม่อย่างนั้น แก้หนี้เดิมไป หนี้ใหม่ก็ยังจะมาและปัญหาจะไม่จบ จึงเป็นที่มาว่าจะทำให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต้องดูให้ครบทุกด้านทั้งด้านรายได้รายจ่าย และแก้ปัญหาหนี้สินไปพร้อมกัน ถ้าดูไม่ครบ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาแบบยั่งยืนได้
  • เรื่องแรก ดูแลรายจ่าย ถามว่ารายจ่ายวิ่งเร็วขึ้นมาจากอะไร มาจากค่าครองชีพเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หน้าที่ ธปท. คือ ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป ทำไม ธปท. ถึงให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ เพราะ (1) กระทบความเป็นอยู่ของทุกคน ถ้าเป็นผู้ประกอบการก็กระทบต้นทุน ครัวเรือนก็กระทบค่าครองชีพ โดยเฉพาะกับครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจไม่มีสินทรัพย์มากนัก ส่งผลให้เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากมูลค่าสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การดูแลเรื่องเงินเฟ้อจึงสำคัญในการดูแลครัวเรือนกลุ่มที่เปราะบาง (2) เมื่อเงินเฟ้อสูงแล้วจะเอาลงได้ยาก เพราะถ้าเกิดการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดวงจรเงินเฟ้อ ค่าแรงขึ้น ต้นทุนขึ้น ราคาสินค้าขึ้น เห็นได้จากต่างประเทศเช่นกันว่าเวลาเงินเฟ้อสูงขึ้นแล้วจะเอาลงลำบาก ราคาขึ้นแล้วจะค้างอยู่แบบนั้น จึงเป็นอีกเหตุผลที่ต้องใส่ใจเรื่องการดูแลเสถียรภาพด้านราคา
  • เรื่องที่ 2 ดูแลรายได้ ให้โตได้อย่างยั่งยืน หมายความว่า ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน หากมาจากมาตรการสวัสดิการอาจช่วยได้เพียงระยะสั้น แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาว่า (1) ธปท.
    ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน
    เพราะถ้าประสิทธิภาพแรงงานไม่เพิ่มขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างอาจทำได้ไม่มากนัก (2) วางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งจากข้อมูลในภาพรวมพบว่า สินเชื่อเติบโตในภาพรวม แต่ในภาพรวมที่ดีก็ซ่อนปัญหาในบางกลุ่ม ที่เป็นห่วงเป็นพิเศษ คือ กลุ่ม SMEs ซึ่งมีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว ช่วงโควิดมีมาตรการช่วยเหลือทำให้สินเชื่อกลับมาโตได้ แต่ตอนนี้เริ่มกลับสู่แนวโน้มปกติที่ชะลอ ทาง ธปท. ต้องขอบคุณทางกระทรวงการคลังที่จะช่วยให้มีกลไกการค้ำประกันเครดิตที่ยืดหยุ่น เพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยั่งยืน (3) วางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบการชำระเงิน ทำให้การจับจ่ายใช้สอยสะดวกขึ้น เป็นการวางพื้นฐานทางการเงินที่มีต้นทุนถูก เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมด้านรายได้
  • เรื่องที่ 3 แก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่กับเรามานานและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด สูงถึงประมาณ 90% ต่อ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็นสำหรับเสถียรภาพของประเทศ ถ้าต่างประเทศมักใช้คือ  80% ต่อ GDP แต่ถ้าทำให้หนี้ต่อ GDP ลงเร็วหรือแรงไปจะไม่ดี ต้องทำให้สินเชื่อโตต่อไปได้แบบไม่สะดุด ถ้าโตเร็วก็ไม่ยั่งยืน จึงควรเห็นสินเชื่อใหม่โตในระดับที่เหมาะสม ไม่เร็วไปไม่ช้าไป และแก้หนี้เก่าได้ ซึ่ง ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มก่อหนี้ ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ให้ความรู้กับผู้กู้ และเมื่อเป็นหนี้แล้ว ถ้าเริ่มมีปัญหาก็มีการปรับโครงสร้างหนี้ และในเวทีเสวนาวันนี้จะมีการเจาะเรื่องที่มีนัยที่สุดของอีสาน คือ การแก้หนี้เกษตรกรของอีสาน 

 

สุดท้ายขอฝากไว้ว่า องค์ประกอบสำคัญในการที่จะแก้หนี้ได้อย่างยั่งยืน ต้องดูให้ครบในทุกมิติ คือ มิติรายจ่าย รายได้ และสุดท้ายคือการดูแลเรื่องของหนี้

สุนทรพจน์หัวข้อ "การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน"

สัมมนาประจำปี 2567 ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อ้างอิง 

[1] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และแบบสำรวจจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (SES) ปี 66 คำนวณโดย ธปท.

[2] ครัวเรือนภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาพรวมประเทศมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาท  3,112 บาท 1,499 บาท 2,663 บาท ตามลำดับ คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (SES) ปี 66 โดยรายได้เป็นรายได้ที่มาจากการทำงานหรือการผลิต

[3] เงินช่วยเหลือภาคอีสาน 5,024 บาท เหนือ 4,218 ใต้ 2,864 ประเทศ 3,794 จากข้อมูล SES ปี 66

[4] 53% ของแรงงานภาคอีสานทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตร เหนือ 46% ใต้ 40% ประเทศ 30% จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 66 และการคำนวณของ ธปท.

[5] สัดส่วนรายได้เกษตรกรภาคอีสาน ปี 66 ข้าว 40% มัน 10% อ้อย 10% ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และการคำนวณของ ธปท.

[6] สัดส่วนภาคเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ภาคอีสาน 5% เหนือ 44% ใต้ 14% กลาง 39% จากกรมชลประทาน ปี 64

[7] ที่มา: FAOSTAT