สัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่อง "แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน"

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30-12.00 น.

ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง

สัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กำหนดการ

 กำหนดการ
09.00 น.

กล่าวเปิดงานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ "การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน"  

โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

09.30 น.

นำเสนอ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” 

โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

10.00 น.

นำเสนอ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ”  

โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการ 

ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10.30 น.

นำเสนอ “พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้เกษตรกรอีสาน”

โดย ทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

11.00 น. 

เสวนา เรื่อง “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน”

โดย 

- ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

- คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) โค้ชการเงินระดับประเทศ เจ้าของเพจ Money Coach

- คุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกร ผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา

ดำเนินรายการโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 

สรุปงานสัมมนา

BOT Seminar 2024

ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายของ ธปท. คือ ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยความกินดีอยู่ดีมีองค์ประกอบ 2 เรื่อง คือ 1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายโดยรวม ถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตกำไรบริษัท สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราจึงเห็นครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี 2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.8% ในไตรมาส 1 ปี 2567 และที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต

หากดูรายจ่ายเทียบกับรายได้ที่มาจากการทำงาน จะเห็นว่า ครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว และปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่ถ่างขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ แม้จะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร ต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยมี 3 แนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านรายจ่าย หน้าที่ ธปท. ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป 2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ และวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน 3) แก้ปัญหาหนี้สิน ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร

ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนอีสานยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศอยู่ที่ 184,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% สาเหตุจากโครงสร้างกำลังแรงงานและเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแรงงานอีสานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคเกษตร 53% แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้

อย่างไรก็ดี นอกจากมิติรายได้ และรายจ่ายครัวเรือนแล้ว การที่คนอีสานจะมีความกินดีอยู่ดีจะต้องมีทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดีด้วย ที่ผ่านมา ธปท. สภอ. ได้เผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น

ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยว่ามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม “วัฒนธรรมหนี้” ช่วยให้เกิดดุลยภาพเชิงสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่กระจายทางเลือกให้ทุกคนอย่างไม่เป็นธรรม หนี้จึงเป็นปลายทางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องแก้ทั้งระบบไปพร้อมกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การยกระดับรายได้และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันมากกว่าการออกนโยบายที่แก้ปัญหาเป็นครั้งคราว  

ช่วงที่ 4 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดย คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล และคุณพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน
2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่ไม่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรในปัจจุบันมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ การชำระหนี้รอบนี้ สามารถตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะปลดหรือลดหนี้ได้ แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้

ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการจากการเสวนา

สรุปประเด็นสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนได้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่านที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง 2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้ 3) การสร้างกลไกที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต 4) นโยบายภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค

.

รับชม Video

ดูทั้งหมด

ช่วงที่ 1 : สุนทรพจน์ ในหัวข้อ การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน

09 ก.ค. 2567

ช่วงที่ 2 : จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน

09 ก.ค. 2567

ช่วงที่ 3 : วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ

09 ก.ค. 2567

ช่วงที่ 4 : พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน

09 ก.ค. 2567

ช่วงที่ 5 : การเสวนา หัวข้อ แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน

09 ก.ค. 2567

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

0 4391 3532

Neo-econ-div@bot.or.th