คำถาม คำตอน ด้านธนบัตร

​ประเด็นคำถาม คำตอบ ธนบัตรพอลิเมอร์

1. ทำไมถึงต้องเปลี่ยนวัสดุเป็นพอลิเมอร์

ธนบัตรที่ผลิตด้วยกระดาษ ด้วยเฉพาะชนิดที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือสูง สกปรกง่าย มีอายุใช้งานสั้นเพียง 2 ปี และเก่าเร็ว โดยการเปลี่ยนวัสดุที่ผลิตโดยพอลิเมอร์ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีคุณสมบัติทนทาน สะอาด และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย 


2. ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบกระดาษ ยังคงใช้ได้หรือไม่ 

​ธนบัตรแบบที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป


​3. ถ้าต้องการธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท สามารถแลกได้เมื่อไหร่และที่ใดบ้าง 

​สามารถแลกได้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ธนาคารทั่วประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง


4. ​มีการจำกัดปริมาณการแลกเปลี่ยนธนบัตรกระดาษ เป็นพอลิเมอร์ หรือ ถอนเงินเป็นธนบัตรพอลิเมอร์ หรือไม่

​ประชาชนสามารถทยอยแลกธนบัตรพอลิเมอร์ได้ เนื่องจากธนบัตรแบบใหม่นี้จะใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนและจัดพิมพ์ในปริมาณที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณธนบัตรพอลิเมอร์ที่แต่ละสาขาของสถาบันการเงินที่มีอยู่ในขณะนั้น


5. ​ธนบัตรพอลิเมอร์มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังครบถ้วน 100% หรือไม่

การนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเต็มจำนวนทุกฉบับ


 

​6. ปัจจุบันมีประเทศใดใช้ธนบัตรพอลิเมอร์บ้าง 

​ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศ ที่ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในหลายชนิดราคา  เช่น แคนาดา ชิลี ซาอุดิอาระเบีย สก็อตแลนด์ และอังกฤษ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น

1. ธนบัตรพอลิเมอร์มีความแตกต่างจากธนบัตรกระดาษอย่างไร ในเชิงผู้ใช้งาน

​ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะและรูปลักษณ์โดยรวม ไม่แตกต่างจากธนบัตรกระดาษ แต่เนื้อสัมผัสแตกต่างจากกระดาษและพลาสติกทั่วไป


​2. ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะเด่นที่ช่วยในการต่อต้านการปลอมแปลงอย่างไร

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเหมือนธนบัตรชนิดกระดาษปัจจุบัน 

มีช่องใส เป็นจุดสังเกตที่สามารถมองทะลุได้ทั้งสองด้าน มีสีเหลือบแดงเมื่อพลิกเอียงธนบัตร และมีลายดุนนูนตัวเลข 20 ที่มีความนูน


3. ธนบัตรพอลิเมอร์แบบใหม่ จะดีกว่าธนบัตรพอลิเมอร์แบบเดิมที่เคยออกใช้อย่างไร (หมึกหลุดร่อน หดตัว โดนความร้อนไม่ได้ ละลาย พับแล้วสีลอกเป็นรอยพับ ยับย่นง่าย)

​ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิต วัสดุการพิมพ์ และหมึกพิมพ์ ทำให้ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อสภาพการใช้งานต่าง ๆ ทนความร้อนได้ดี มากกว่าแบบเดิม


4. ​ธปท. มีข้อแนะนำในการใช้งานธนบัตรอย่างไรบ้าง เพื่อให้ธนบัตรมีสภาพดีน่าใช้ตามที่ ธปท. คาดหวัง รวมถึง ข้อกังวลว่าธนบัตรจะใช้งานยาก ธนบัตรใหม่มากอาจติดกัน ทำให้ทอนผิด

​ขอแนะนำ ไม่ให้เย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ พับหรือกรีดธนบัตร เพื่อให้ธนบัตรมีสภาพดี สำหรับข้อกังวลเรื่องอาจเกิดปัญหาธนบัตรติดกัน แนะนำให้บิดหรือดัดเบา ๆ จะช่วยลดปัญหาการติดกันของธนบัตรใหม่ได้


​5. สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้หรือไม่

​แลกเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนชนิดราคาอื่น (เคาน์เตอร์ Exchange ในประเทศ)


​6. ธนบัตรพอลิเมอร์ใช้กับเครื่องรับเงินอัตโนมัติได้ไหม เช่น ตู้ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า ตู้ซื้อสินค้า 

​ธปท. ได้แจ้งหน่วยงานที่ดูแลเครื่องรับเงินดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้า และได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมการรองรับให้ประชาชนสามารถใช้ธนบัตรแบบใหม่ได้อย่างกว้างขวาง


 

​7. ผู้บกพร่องทางสายตาจะสังเกตธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท อย่างไร

​ธนบัตรทั้งสองแบบมีความต่างกัน และลายดุนนูนเป็นตัวเลข 20 จะเป็นจุดสังเกตที่จะแนะนำให้แก่ผู้บกพร่องทางสายตา สำหรับการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในครั้งนี้ ธปท. จะประสานงานสมาคมคนตาบอดฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ เพื่อสื่อสารและจัดกิจกรรมให้ผู้บกพร่องทางสายตา ได้รับทราบข้อมูลก่อนการออกใช้

​1. ธปท. มีการควบคุมมลพิษอย่างไรในการทำลายธนบัตรพอลิเมอร์

​ธปท. จะเผาทำลายภายใต้การควบคุมและบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโดยโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล


 

​2. ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถนำไป recycle ได้หรือไม่

​ธนบัตรพอลิเมอร์ทำจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene  ชนิด  BOPP (Bi-Oreinted Polypropylene) ซึ่งสามารถนำไป recycle ได้


 

1. ทำไม ธปท. จึงออกธนบัตรแบบใหม่ในขณะที่มีนโยบายส่งเสริม e-Payment

​ธปท. มีนโยบายสนับสนุน e-Payment แต่สำหรับประชาชนบางกลุ่มที่ยังจำเป็นต้องชำระเงินในรูปแบบธนบัตร ธปท. จึงต้องพัฒนากระบวนผลิตต่อไป เช่น การเลือกใช้วัสดุที่มีความทนทานมากขึ้นและสิ้นเปลืองน้อยลง

 

​1. ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบกระดาษ ที่หมุนเวียนในระบบมีอายุการใช้งานเท่าไร

​ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่ผลิตด้วยกระดาษมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีอายุเฉลี่ยประมาณ 3 ปี เนื่องจากไม่ค่อยถูกนำกลับมาทำลาย ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ผลิตด้วยพอลิเมอร์ มีอายุการใข้งานประมาณ 5 - 7.5 ปี

​ประเด็นคำถาม คำตอบ เรื่องการใช้ธนบัตร

ถาม : ขอแลกธนบัตรชำรุดได้ที่ไหน ?  

ตอบ : ธนาคารออมสิน (ทุกวันทำการ) และธนาคารพาณิชย์ (เฉพาะวันพุธ) 



ถาม : ธนบัตรที่มีรอยขีดเขียนหรือมีตราประทับยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้หรือไม่ ​?

ตอบ : ยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ แต่ธนบัีตรลักษณะดังกล่าวมีรอยสกปรกไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน ควรนำไปแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรสภาพดีที่ธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์ 



​​​ถาม : การขอแลกธนบัตรชำรุดที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับเงินทันทีหรือไม่ ?  

ตอบ : ธนบัตรชำรุดที่จะได้รับเงินทันที ได้แก่ ธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่ 3 ใน 5 ส่วนขึ้นไป

สำหรับธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรน้อยกว่า 3 ใน 5 ส่วน แต่มากกว่าครึ่งฉบับ หรือยากต่อการตรวจพิสูจน์ ผู้ขอแลกต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อนำส่งให้ ธปท. พิจารณา โดย ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีเงินฝาก ประเภทบัญชีออมทรัพย์ หรือไปรษณีย์ธนาณัติตามที่ระบุไว้ในคำร้องฯ ​​



ถาม :  ธนบัตรชำรุดถูกปลวกกัด/ไฟไหม้ และธนบัตรติดกันเป็นก้อนสามารถแลกได้หรือไม่ ?

ตอบ :  หากประชาชนมีธนบัตรชำรุดลักษณะดังกล่าว ธปท. แนะนำให้ดำเนินการ ดังนี้

 

- นำธนบัตรตามสภาพที่เป็นก้อน ไม่ควรแยกหรือแกะออกจากภาชนะที่จัดเก็บ บรรจุธนบัตรชำรุดดังกล่าวในกล่องที่แข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ธนบัตรชำรุดมากไปกว่าเดิมระหว่างการเคลื่อนย้าย

- ให้นำบัตรประชาชนและสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารใดก็ได้ ไปติดต่อที่ธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ และทำคำร้องขอแลกเปลี่ยนธนบัตร เมื่อเจ้าหน้าที่ธนาคารพิจารณาแล้วจะออกใบนำส่งธนบัตรชำรุด เพื่อให้ผู้ขอแลกนำธนบัตรมายื่นด้วยตนเองที่ ธปท. เนื่องจากธนบัตรอาจชำรุดเสียหายมากขึ้นระหว่างการนำส่ง

- ถ้าเป็นกรณีไฟไหม้ให้นำเอกสารแจ้งความไปด้วย

- ติดต่อสอบถามหรือติดตามคำร้องฯ ได้ที่แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร  โทร. 02 356 8736 ถึง 8

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม

​ถาม : หากได้รับธนบัตรปลอม ควร​ทำอย่างไร ? 

ตอบ : ธนบัตรปลอมถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถนำธนบัตรปลอมมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้ ผู้ได้รับธนบัตรปลอมควรปฏิบัติ ดังนี

- ไม่นำธนบัตรปลอมนั้นไปใช้ต่อ เพราะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญ

- นำธนบัตรปลอมส่งมอบให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อส่งมอบต่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย

- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นข้อมูลในการสอบสวนจับกุม


ถาม :  ขอทราบวิธีสังเกตธนบัตรที่ดีที่สุด ง่าย และเร็วที่สุด

ตอบ :  วิธีการสังเกตธนบัตรมี 3 วิธี ได้แก่ สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม เช่น กรณีมีแสงสว่างน้อยหรือไม่มี ควรใช้วิธีสัมผัส กรณีมีแสงสว่างเพียงพอสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสัมผัส ยกส่อง หรือพลิกเอียง


ถาม :  ได้รับธนบัตรปลอมจากเครื่อง ATM ควรทำอย่างไร ?

ตอบ :  รีบนำธนบัตรฉบับที่สงสัยติดต่อธนาคารเจ้าของตู้ ATM เพื่อตรวจสอบ หากเป็นธนบัตรปลอมสาขาธนาคารที่รับเรื่องจะนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป


ถาม : ธนบัตรที่ฟอยล์หลุด/ขาด และธนบัตรที่มีภาพครุฑเพียงครึ่งเดียว (ธนบัตรแบบ 15) เป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ ?

ตอบ : การสังเกตหรือตรวจสอบธนบัตรควรดูหลาย ๆ จุดประกอบกัน อาทิ ลายน้ำ แถบสีในเนื้อกระดาษ หรือหมึกพิมพ์พิเศษสลับสี ซึ่งถ้ามีลักษณะถูกต้อง ก็เป็นธนบัตรจริง สำหรับธนบัตรแถบฟอยล์หลุดลอกหรือแถบฟอยล์ที่เห็นภาพครุฑเพียงครึ่งเดียว เป็นธนบัตรชำรุดที่มีสภาพไม่เหมาะแก่การนำไปใช้ต่อ สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรสภาพดีได้ที่ธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์  

 

 คลิกอ่านเพิ่มเติ​​ ​

​​​ถาม : ขอแลกธนบัตรฉบับใหม่ได้ที่ไหน ?

​ตอบ : สามารถติดต่อขอแลกได้ที่ธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ การให้แลกธนบัตรใหม่ของแต่ละธนาคาร อาจกำหนดสัดส่วนการให้บริการแลกธนบัตรที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณเงินสดสำรอง (ธนบัตรใหม่)  ของธนาคารแต่ละสาขา


​​​ถาม : ธนบัตรที่ระลึกในปัจุบัน ยังมีแบบใดให้แลกได้บ้างและแลกได้ที่ไหน ?

​ตอบ : สามารถติดต่อขอแลกได้ที่ธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายแลกถึงจนกว่าจะหมด


 ​​​ถาม : ขอ​แลกธนบัตรแบบเก่าที่ไม่ได้ใช้หมุนเวียนในปัจจุบันแล้วได้หรือไม่ ?

​ตอบ : เมื่อ ธปท. นำธนบัตรแบบใหม่ออกใช้ จะไม่นำธนบัตรแบบเก่าปล่อยเข้าไปในระบบอีก เพื่อให้ธนบัตรแบบเก่าค่อย ๆ ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด


​​​ถาม : ขอเศษธนบัตรที่ ธปท. ทำลายแล้ว ได้หรือไม่ ?

​ตอบ : ปัจจุบัน ธปท. ไม่มีนโยบายจ่ายเศษธนบัตรให้กับหน่วยงานหรือประชาชน


ถาม : ธปท. ​รับแลกเหรียญกษาปณ์หรือไม่ ?

ตอบ : หน่วยงานที่ผลิตและนำออกใช้เหรียญกษาปณ์ คือ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่

- สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ ถนนจักรพงษ์ บางลำพู โทร. 02 281 1295

- สำนักกษาปณ์ รังสิต โทร. 02 516 5036 และ 02 901 4901


​​​ถาม : ขอแลกธนบัตรต่างประเทศที่ ธปท. ได้หรือไม่ ? 

ตอบ : การแลกธนบัตรต่างประเทศ โปรดติดต่อที่​ธนาคารพาณิชย์ที่เปิดให้บริการ​​ ​

ถาม : ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 100 บาท มีจุดแตกต่างจากธนบัตรหมุนเวียน ชนิดราคา 1000 บาท ปัจจุบันที่มีอยู่ในระบบอย่างไร ?  

ตอบ : ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 100 บาท มีจุดแตกต่างจากธนบัตรหมุนเวียน ชนิดราคา 1000 บาท ปัจจุบัน ที่ประชาชนสามารถสังเกตได้ชัดเจน ดังนี้  (1) ขนาดธนบัตรหมุนเวียน 1000 บาทมีขนาดความยาวกว่า 1.2 เซนติเมตร (2) ธนบัตรทั้ง 2 แบบ มีตัวเลขบอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรด้านล่างอย่างชัดเจน (3) ธนบัตรที่ระลึกออกใช้ใหม่นี้ มีสีเหลืองซึ่งแตกต่างจากสีธนบัตรหมุนเวียนที่มีอยู่ในระบบทุกชนิด ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสังเกตทุกครั้งที่รับธนบัตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการไม่ประมาทแล้ว ยังจะช่วยในเรื่องป้องกันการรับธนบัตรปลอมด้วย



ถาม : หากประชาชนต้องการแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ระลึกฯ เป็นธนบัตรหมุนเวียนปกติ ควรทำอย่างไร  ?  

ตอบ : หากประชาชนต้องการแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ระลึกเป็นธนบัตรหมุนเวียนปกติ สามารถติดต่อขอแลกได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย



ถาม : ธนบัตรที่ระลึกฯ สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้หรือไม่ ?  

ตอบ : ธนาคารแห่งประเทศไทยขอยืนยันว่าธนบัตรที่ระลึกนี้ สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับธนบัตรที่ระลึกทุกแบบที่ผ่านมา และสามารถนำธนบัตรที่ระลึกฯ ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นที่ธนาคารหรือ money changer ได้ตามปกติเช่นเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป



ถาม : ธนบัตรที่ระลึกฯ นี้ มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอย่างไรบ้าง  ?  

ตอบ : ธนาคารแห่งประเทศไทยขอเรียนแจ้งว่า ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงของธนบัตรโดยทั่วไปมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การออกแบบเพื่อป้องกันการผลิตธนบัตรปลอมซึ่งเลียนแบบโดยอ่านภาพธนบัตรเพื่อการพิมพ์ ตลอดจนการออกแบบเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้งานสามารถแยกแยะได้ระหว่างธนบัตรจริงและธนบัตรปลอมโดยใช้คุณสมบัติพิเศษของธนบัตร เช่น กระดาษ และลายน้ำ เป็นต้น

 

       ทั้งนี้ วิธีการตรวจสอบธนบัตรปลอม สามารถทำได้ด้วยการ “สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง” ซึ่งสามารถตรวจง่ายๆ ด้วยตนเอง สำหรับกรณีการ print ออกมาภาพจะไม่คมชัดเท่าธนบัตรจริง รวมถึงเนื้อกระดาษจะต่างออกไป ทั้งนี้ feature พิเศษที่ใช้ในธนบัตรฉบับนี้เป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่มีลักษณะเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 17 ที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน



ถาม : ธนบัตรที่ระลึกฯ นี้ ใช้ทองคำค้ำประกันหรือไม่ และสามารถใช้หมุนเวียนได้แค่ภายในประเทศเท่านั้นจริงหรือไม่ ?

ตอบ : การออกใช้ธนบัตรทุกชนิด ทั้งธนบัตรหมุนเวียนและธนบัตรที่ระลึก ต้องมีทุนสำรองหนุนหลัง จึงมีมูลค่าและสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย อีกทั้งยังสามารถนำธนบัตรที่ระลึกฯ ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นที่ธนาคารหรือ money changer ได้ตามปกติเช่นเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป 

วิธีสังเกตธนบัตรที่ระลึก 100 บาท แบบ 17