ประวัติโรงพิมพ์ธนบัตร

โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย


 

​ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2504 โดยใช้เงินจากบัญชีผลประโยชน์ทุนสำรองเงินตรา ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 เป็นทุนดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยทางเศรษฐกิจ

สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยไม่อาจสั่งพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศ ตามที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มนำธนบัตรออกใช้เมื่อพุทธศักราช 2445 ได้อย่างสะดวก หรือไม่อาจกระทำได้เลยในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484 – 2488) ทำให้ธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนขาดแคลนจนส่งผลกระทบต่อกิจการทุก ๆ ด้านของประเทศเป็นอย่างยิ่ง การมีโรงพิมพ์ธนบัตรภายในประเทศ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยทางเศรษฐกิจ ทั้งยังให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว กล่าวคือ ทำให้สามารถควบคุมได้ทั้งปริมาณและคุณภาพของธนบัตร รวมทั้งเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย

 

โรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านถนนท่าเกษม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 11 ไร่ 35 ตารางวา  เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2506 แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2512 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงพิมพ์ธนบัตร เมื่อวันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512

ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ของโรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม ที่ไม่อาจขยายและปรับปรุงให้รองรับการผลิตธนบัตรซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความเสี่ยงเนื่องจากสภาพแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงานที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้อนุมัติให้ก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 151 ไร่ ณ ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เวลา 10.49 น. ในการนี้ ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานประกอบพิธีดังกล่าว