Bangkok Interbank Offered Rate : BIBOR
BIBOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการปล่อยกู้เงินบาทแบบไม่มีหลักประกันระหว่างสถาบันการเงิน ซึ่งเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความผันผวนต่ำ อีกทั้งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
.
ในการจัดทำอัตราดอกเบี้ย BIBOR (BIBOR Fixing) สถาบันการเงินที่เป็น BIBOR contributors จะนำส่งอัตราดอกเบี้ยที่ตนยินดีปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินชั้นนำ (prime bank) ในระยะเวลาต่างๆ ตั้งแต่ระยะข้ามคืนไปจนถึงระยะ 1 ปีมายัง ธปท. ซึ่ง ธปท. จะทำหน้าที่เป็นผู้คำนวณหาอัตราดอกเบี้ย BIBOR โดยการตัดค่าสูงสุดและต่ำสุดออกอย่างละ 2 ค่า จากนั้นนำอัตราที่เหลือมาหาค่าเฉลี่ย โดย BIBOR contributors จะต้องนำส่งอัตราดอกเบี้ยภายในเวลา 11.00 น. จากนั้น ธปท. จะคำนวณและเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย BIBOR Fixing ในเวลา 11.15 น. ของทุกวันทำการ ที่เว็บไซต์ของ ธปท. นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ผ่านทาง Reuters (BKIBOR=BKTH) และ Bloomberg (BTHA04) อีกด้วย
อัตราดอกเบี้ย BIBOR มีคุณสมบัติของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ดี กล่าวคือ
1. สะท้อนสภาพตลาดเงินในประเทศ
ในการจัดทำอัตราดอกเบี้ย BIBOR สถาบันการเงินที่เป็น BIBOR contributors จะนำส่งอัตราดอกเบี้ยที่พิจารณาจากหลักการเดียวกันว่า หากจะปล่อยกู้เงินบาทโดยไม่มีหลักประกันให้กับสถาบันการเงินที่มีอันดับเครดิตดีจะปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ยเท่าใด ดังนั้น BIBOR จึงสะท้อนสภาพคล่องเงินบาทผ่านมุมมองของสถาบันการเงินที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดเงินไทยได้เป็นอย่างดี และเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR ไปใช้งานต่อ ธปท. ได้ติดตามการทำธุรกรรมจริงในตลาดเงินของสถาบันการเงินว่าใกล้เคียงและสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ที่สถาบันการเงิน quote เข้ามา
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ย BIBOR ทุกระยะยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความผันผวนต่ำ สามารถคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่ง และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศด้วย
2. มีการจัดทำที่โปร่งใส เป็นอิสระ และถูกบิดเบือนได้ยาก
อัตราดอกเบี้ย BIBOR มีวิธีการจัดทำที่ชัดเจน เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดมาจากสถาบันการเงินและผ่านวิธีการคำนวณโดย ธปท. จึงมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกบิดเบือนหรือครอบงำจากผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ประกอบกับมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดจาก ธปท. ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานของกระบวนการจัดทำอัตราดอกเบี้ย BIBOR ให้เป็นไปตามหลักสากลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถืออีกด้วย
3. มีเครื่องป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย BIBOR
ผู้ที่มีธุรกรรมการเงินอ้างอิงกับ BIBOR สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของ BIBOR ได้ โดยการใช้ BIBOR Futures หรือ IRS อ้างอิง BIBOR ซึ่งสถาบันการเงินที่เป็น BIBOR contributors ได้เผยแพร่ราคาผ่านทาง Reuters (THBQM3BIRS) อย่างไรก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวยังมีสภาพคล่องไม่สูงนัก แต่ในระยะต่อไป หากมีธุรกรรมเพิ่มขึ้นก็น่าจะทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงลดลงได้
ในระยะแรกของการส่งเสริมให้มีการนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR ไปใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมนั้น อัตราดอกเบี้ย BIBOR ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และธุรกรรมอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR มีจำกัดอยู่ในสถาบันการเงินเพียงไม่กี่ราย แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในต่างประเทศในปี 2008 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกประเทศมีความผันผวนเป็นอย่างมาก และบางธุรกรรมถึงกับต้องเปลี่ยนไปอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอื่นที่ผันผวนน้อยกว่า ผู้ร่วมตลาดจึงได้ตระหนักถึงข้อดีของอัตราดอกเบี้ย BIBOR และมีการนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR ไปใช้อ้างอิงในธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินและธุรกรรมที่สถาบันการเงินทำกับลูกค้าที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สินเชื่อและเงินกู้ยืมประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ตั๋วแลกเงินและผลิตภัณฑ์เงินฝาก เป็นต้น ส่งผลให้ตลาดของการอ้างอิง BIBOR ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณธุรกรรม จำนวนผู้เล่น และการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น
ธปท. เล็งเห็นถึงข้อดีของอัตราดอกเบี้ย BIBOR ที่สะท้อนภาวะตลาดเงินไทย และเคลื่อนไหวสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น ธปท. จึงได้มีการดำเนินการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับอัตราดอกเบี้ย BIBOR และส่งเสริมให้มีการใช้อย่าง
แพร่หลาย ดังต่อไปนี้
- การกำหนดเกณฑ์และวิธีการจัดทำอัตราดอกเบี้ย BIBOR (BIBOR fixing) เพื่อสร้างมาตรฐานและความโปร่งใส โดย ธปท. เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ ซึ่งรวมถึงการจัดทำ BIBOR Code of Conduct ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สถาบันการเงินที่เป็น BIBOR contributors ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำอัตราดอกเบี้ย BIBOR โดยระบุถึงแนวทางในการนำส่งอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนมีที่มาที่ไป ระบบการควบคุมภายในต่างๆ ที่พึงมี การจัดเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนหลัง รวมถึงหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงาน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR ไปใช้อ้างอิงต่ออีกด้วย
- การติดตามและเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย BIBOR อัตราดอกเบี้ยที่ BIBOR contributors นำส่งให้ ธปท. และอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมจริงในตลาดเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าอัตราดอกเบี้ย BIBOR สามารถสะท้อนภาวะตลาดเงินได้เป็นอย่างดี
- การจัดประชุมหารือร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็น BIBOR contributors เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่พบ และผลักดันให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- การมอบรางวัล BIBOR Awards ให้กับ BIBOR contributors ที่มีความโดดเด่นในการทำธุรกรรมการเงินประเภทต่างๆ ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR เพื่อแสดงความขอบคุณ BIBOR contributors และส่งเสริมให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR ให้กับลูกค้าอย่างแพร่หลายต่อไป
- การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR