อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงคืออะไร

 

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง คือ อัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงถึงในสัญญาทางการเงินประเภทดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อ ตั๋วแลกเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยรับหรือจ่ายของสัญญาทางการเงินนั้นอาจมีการบวกหรือลบ spread ที่คงที่จากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงด้วยก็ได้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาดการเงิน ซึ่งทำให้จำนวนเงินที่จะได้รับหรือจ่ายเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตัวอย่างของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่นิยมทั่วไป เช่น BIBOR THBFIX และ MLR เป็นต้น

 

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ดีควรสามารถสะท้อนภาวะตลาดเงิน สภาพคล่อง และสภาพเศรษฐกิจในประเทศ มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่อ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นกับเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งสถานการณ์ที่ไม่ปกติในต่างประเทศ รวมทั้งควรมีการจัดทำที่โปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้ร่วมตลาดในการใช้อ้างอิงในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ

LIBOR and THBFIX Transition

จากเหตุการณ์ที่ Financial Conduct Authority (FCA) ซึ่งเป็นองค์กรของอังกฤษที่กำกับดูแลการจัดทำอัตราดอกเบี้ย London Interbank Offered Rate (LIBOR) ได้ยืนยันการหยุดเผยแพร่และไม่รับรองคุณสมบัติของอัตราดอกเบี้ย LIBOR ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย LIBOR ทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรวมถึงการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ด้วย ธปท. ได้ร่วมกับตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ จัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR เพื่อหาแนวทางรองรับและเตรียมความพร้อมสำหรับตลาดการเงินไทย และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยต่อไป