LIBOR and THBFIX Transition

จากเหตุการณ์ที่ Financial Conduct Authority (FCA) หน่วยงานกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย London Interbank Offered Rate (LIBOR) ของทั้ง 5 สกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร (EUR) ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) เยน (JPY) และฟรังก์สวิส (CHF) ได้ยืนยันการหยุดเผยแพร่ และการไม่รับรองคุณสมบัติของอัตราดอกเบี้ย LIBOR ของสกุลยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง เยน ฟรังก์สวิส ทุกระยะ (tenor) และสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD LIBOR) ระยะ 1 สัปดาห์ และ 2 เดือน หลังสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ย LIBOR สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะที่เหลือ หลังกลางปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย LIBOR ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ร่วมตลาดจะไม่สามารถใช้ LIBOR ในการอ้างอิงเป็นการทั่วไปได้หลังช่วงเวลาดังกล่าว

 

ในกรณีของไทย นอกจากการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR อ้างอิงในธุรกรรมทางการเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ย USD LIBOR ยังเป็นองค์ประกอบในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ซึ่งถูกใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของธุรกรรมการเงิน รวมถึงตราสารอนุพันธ์อย่างแพร่หลาย ดังนั้น การยุติการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR ดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดการเงินไทย และเป็นประเด็นที่ผู้ร่วมตลาดควรให้ความสำคัญและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

 

ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงร่วมกับตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติ จัดตั้ง "คณะทำงาน เตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR"  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางรองรับกรณียุติการใช้ LIBOR สำหรับตลาดการเงินไทยเพื่อให้พร้อมรองรับต่อการยุติการใช้ LIBOR เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยต่อไป

หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อ: ReferenceRate@bot.or.th หรือโทร 0-2283-6321

 

* เอกสารหรือวีดีทัศน์บางส่วนที่จัดทำขึ้นก่อน 5 มีนาคม 2564 อาจมีข้อมูลที่เดิมที่ยังไม่ได้รับการปรับให้เป็นปัจจุบัน ดังนี้

1. การยุติการเผยแพร่ LIBOR และ THBFIX ในสิ้นปี 2564: ล่าสุด ได้มีการปรับ timeline การยุติการเผยแพร่ LIBOR โดยมีรายละเอียดและกำหนดเวลาแตกต่างกันในแต่ละสกุลเงิน รวมถึงการยุติการเผยแพร่ THBFIX ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566

2. หลังจากการยุติการเผยแพร่ THBFIX แล้ว ขอความร่วมมือผู้ร่วมตลาดทำธุรกรรมอนุพันธ์ใหม่ที่อ้างอิง Fallback Rate (THBFIX) ได้เท่าที่จำเป็น: จากการหารือกับ ISDA พบว่า Fallback Rate ของอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ รวมถึง Fallback Rate (THBFIX) สามารถใช้ได้เฉพาะกับธุรกรรมคงค้าง (legacy contract) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดิมอยู่ก่อนเท่านั้น ดังนั้น ผู้ร่วมตลาดจึงไม่สามารถใช้ Fallback Rate (THBFIX) อ้างอิงในธุรกรรมอนุพันธ์ที่ทำขึ้นใหม่ได้

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

THOR

THBFIX *ยุติการเผยแพร่หลังวันที่ 30 มิ.ย. 2566

Fallback Rate (THBFIX)