โครงสร้างตลาดการเงินไทย
ตลาดเงินคือตลาดสำหรับการกู้ยืมและการลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เพื่อบริหารสภาพคล่องในช่วงสั้นๆ โดยหลักธุรกรรมในตลาดเงินจะประกอบไปด้วยการอออกหรือซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วแลกเงิน เป็นต้น และการกู้ยืมระยะสั้นผ่านการธุรกรรมการกู้ยืมแบบไม่มีหลักประกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ (Interbank transaction) และธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร (Repurchase Agreement: repo) ด้วย
ตลาดทุนเป็นแหล่งเพื่อการระดมทุนและการลงทุนระยะยาว (เกินกว่า 1 ปี) โดยสามารถแบ่งย่อยได้ตามประเภทของตราสารหรือสิทธิที่ผู้ลงทุนหรือผู้ถือตราสารจะได้รับ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะแบ่งเป็นตลาดตราสารทุน (Stock market) และตลาดตราสารหนี้ (Bond market) โดยตลาดตราสารทุนเป็นการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านการออกจำหน่ายหุ้นสามัญ โดยผู้ลงทุนมีฐานะเป็น “เจ้าของ” นอกจากนี้ การซื้อขายตราสารทุนในตลาดรองในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange Thailand: SET) ขณะที่ตลาดตราสารหนี้จะเป็นการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านการออกจำหน่ายหุ้นกู้ (Debentures) และการกู้ยืมของหน่วยงานภาครัฐผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise Bonds) เป็นต้น โดยผู้ลงทุนในตราสารหนี้มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” อีกทั้งการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองในประเทศไทย ทั้งที่ออกโดยภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายแบบนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC)
ตลาดเงินตราต่างประเทศ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน หรือตลาดปริวรรตเงินตรา (Foreign Exchange Market) คือ ตลาดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่างๆ เพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยราคาของเงินตราต่างประเทศสกุลหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกสกุลหนึ่ง จะเรียกว่า "อัตราแลกเปลี่ยน" (Foreign Exchange Rates) เช่น อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. หรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินหยวน เป็นต้น ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา
ตลาดอนุพันธ์ คือ ตลาดสำหรับซื้อขายตราสารทางการเงินที่ราคาขึ้นกับสินทรัพย์อ้างอิง โดยตราสารอนุพันธ์จะมีสินทรัพย์อ้างอิงได้หลากหลาย เช่น เงินตราสกุลต่างๆ หุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตร ตราสารอนุพันธ์อาจเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้านอกตลาด (forward) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด (futures) ข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสด (swap) หรือ สัญญาสิทธิ (option) โดยนิยมใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย หรือความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง เป็นต้น