การจัดตั้งกองทุน BSF
วัตถุประสงค์
กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ถูกตั้งขึ้นเพื่อดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำงานได้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความกังวลจากผลกระทบของโควิด 19 เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการดำเนินของภาคธุรกิจ จนลุกลามกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่น และบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินไทย
โดยพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ร่วมกันดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตั้งกองทุน BSF เพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ทำให้การระดมทุนในตลาดสามารถทำงานได้อย่างปกติ และตลาดการเงินยังทำหน้าที่สำคัญในการเป็นแหล่งกลางในการจัดสรรเงินทุนของภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบกองทุน
กองทุน BSF เป็นแหล่งการสนับสนุนสภาพคล่องสำรอง (backstop) ให้กับแก่บริษัทที่มีผลดำเนินธุรกิจดี แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงที่ตราสารหนี้จะครบกำหนดในปี 2563–2565 โดยกองทุน BSF มีระยะเวลาการดำเนินการไม่เกิน 5 ปี และธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนในกองทุน BSF วงเงินรวมไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
บริษัทที่มีสิทธิสมัครรับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF
คุณสมบัติ
- เป็นบริษัทที่จดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย (ยกเว้น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือ บริษัทในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน)
- มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ BBB- หรือเทียบเท่า ไม่เกิน 1 เดือนก่อนวันยื่นขอรับความช่วยเหลือ และหากมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากหลายสถาบัน ให้ยึดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าเป็นหลัก
- มีพื้นฐานการดำเนินงานที่ดี แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีแนวโน้มว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยุติลง
- มีตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่มียอดคงค้าง ณ วันที่จัดตั้งกองทุน BSF (19 เม.ย. 2563) และมีวันครบกำหนดไม่เกิน 31 ธ.ค. 2565 (ไม่รวมตราสารหนี้ที่เสนอขายแก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง หรือ PP10)
- ผู้ออกตราสารหนี้ต้องดำเนินการจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นให้ครบไม่น้อยกว่า 50% ตามเงื่อนไขดังนี้ (ดำเนินการควบคู่กันทั้ง ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2)
- ส่วนที่ 1 มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 20% ของยอดตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนด จากหุ้นกู้ใหม่ อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี ขายให้แก่นักลงทุนในตลาดแรก (ไม่รวมสถาบันการเงิน) และ
- ส่วนที่ 2 มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 20% ของยอดตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนด จากหุ้นกู้ใหม่ อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี ขายให้แก่สถาบันการเงิน หรือสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน
- หากดำเนินการในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 แล้วยังมีมูลค่าไม่ถึง 50% ของยอดตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนด จะต้องจัดหาจากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น เจ้าของ ผู้ถือหุ้นเดิม หรือบริษัทแม่ เป็นต้น เพื่อให้ครบ 50%
การให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF
วงเงินการให้ความช่วยเหลือ
กองทุน BSF จะให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 50% ของยอดตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนด
ทั้งนี้ ยอดรวมการให้ความช่วยเหลือต้องเป็นไปตามกรอบในการบริหารความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด ดังนี้
- การลงทุนในหุ้นกู้ของผู้ออกรายใดรายหนึ่ง ไม่เกิน 3% ของวงเงินกองทุน BSF
- การลงทุนในหุ้นกู้ของกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ไม่เกิน 10% ของวงเงินกองทุน BSF
- การลงทุนในหุ้นกู้ของผู้ออกแต่ละราย ต้องไม่เกิน 10% ของหนี้สินทางการเงินของบริษัทตามที่ปรากฏในงบการเงินล่าสุด
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
กองทุน BSF จะให้สภาพคล่องผ่านการลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกใหม่ โดยมีลักษณะหุ้นกู้ที่กองทุน BSF ลงทุนดังนี้
- อายุไม่เกิน 270 วัน
- มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (issue rating) ไม่ต่ำกว่าระดับ BBB– หรือเทียบเท่า
- เป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความซับซ้อน (plain vanilla bond) และไม่ด้อยสิทธิ์
- ผู้ออกตราสารหนี้สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้คืนได้ก่อนครบกำหนด
- กรณีตราสารหนี้ที่ออกขายให้แก่นักลงทุนในตลาดแรกในคราวเดียวกัน มีการให้หลักประกัน หุ้นกู้ที่กองทุน BSF จะลงทุนต้องได้รับหลักประกันที่ไม่ด้อยกว่า
การกำหนดอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่กองทุน BSF จะลงทุน
ผลตอบแทนหุ้นกู้ที่กองทุน BSF ลงทุน คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนขั้นสูงของเงินทุนที่จัดหาจากแหล่งอื่น (ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) บวกด้วยค่าธรรมเนียมการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน (facility premium) ดังนี้
- 1% ต่อปี สำหรับเงินส่วนที่ไม่เกิน 30% ของยอดตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนด
- 2% ต่อปี สำหรับเงินส่วนที่เกิน 30% ของยอดตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนด
การยื่นขอรับความช่วยเหลือ
ผู้ออกตราสารสามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือผ่านช่องทางที่แสดงไว้ที่เว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนที่ตราสารหนี้เดิมจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ และจัดส่งเอกสารตามรายการที่แสดงไว้ที่เว็ปไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในหุ้นกู้ได้เมื่อคณะกรรมการลงทุนพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ออกตราสารหนี้และหุ้นกู้ที่กองทุน BSF จะลงทุนเป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน และการบริหารความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด
เงื่อนไขระหว่างการรับความช่วยเหลือ
ผู้ออกตราสารหนี้ที่กองทุน BSF ลงทุนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ตลอดระยะเวลาที่กองทุนถือครองหุ้นกู้หรือจนกว่าจะไถ่ถอนหุ้นกู้ที่กองทุนลงทุนทุกรุ่น
- ห้ามลดทุน เว้นแต่เป็นการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมและมีการเพิ่มทุนใหม่
- ห้ามซื้อคืนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิจากผู้ถือหุ้นเดิม
- ห้ามชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนดหรือให้กู้เพิ่มเติมแก่กรรมการ และผู้ถือหุ้น
- ห้ามชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนดหรือให้กู้เพิ่มเติมแก่กลุ่มธุรกิจของตน เว้นแต่เป็นไปเพื่อการดำเนินธุรกิจปกติ
- ห้ามชำระคืนหนี้สินทางการเงินอื่นๆ ก่อนครบกำหนด
- ห้ามจ่ายเงินโบนัสให้แก่กรรมการ และผู้บริหารระดับสูง 2 ลำดับแรก ทั้งในรูปแบบของเงินสด หุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิ
- ห้ามจ่ายเงินปันผล ทั้งในรูปแบบของเงินสด หุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิ เว้นแต่จะได้ประกาศจ่ายปันผลล่วงหน้าก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
- ห้ามนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ ณ วันที่ออกหุ้นกู้ขายให้กองทุนไปวางเป็นประกันเพิ่มเติมแก่เจ้าหนี้อื่น ในระหว่างได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการลงทุนพิจารณาผ่อนผัน
ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ประสงค์จะขอไถ่ถอนหุ้นกู้คืนก่อนครบกำหนด ให้ผู้ออกตราสารหนี้แจ้งแก่กองทุนล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการ