มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

(ปิดโครงการ)

 

ตามที่ภาครัฐได้ร่วมกันจัดทำมาตรการทางการเงินเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจ 2 โครงการ ได้แก่ (1) “สินเชื่อฟื้นฟู” และ (2) “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและได้จัดงานแถลงข่าวไปเมื่อ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายท่านอาจยังสับสนว่า โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งเป็นมาตการใหม่นั้น คืออะไร มีกลไกอย่างไร และใครมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้บ้าง ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่นี่

 

วัตถุประสงค์ของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

 

เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของโรค COVID- 19 และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดจากเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต โดย ธปท. จะให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อันจะส่งผลฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

วงเงินรวมของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

 

100,000 ล้านบาท

 

ผู้ประกอบธุรกิจและทรัพย์สินประเภทใดมีสิทธิ์เข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้บ้าง

 

ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถขอเข้ามาตรการ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

 

1. เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย

2. เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ หากเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

3. ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

 

ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันที่สถาบันการเงินจะรับโอนตามมาตรการ

 

ไม่จำกัดประเภททรัพย์สิน แต่ต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกอบธุรกิจนำมาเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อประกันการชำระหนี้ของสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ

 

เงื่อนไขการรับโอน การเช่า และการซื้อคืนทรัพย์สินหลักประกัน ที่สำคัญ มีอะไรบ้าง

 

ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนได้ภายในระยะเวลา 3 - 5 ปีนับแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะไม่นำทรัพย์สินไปขายแก่บุคคลอื่นหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอม

 

ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นจากสถาบันการเงินเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ ตามอัตราค่าเช่าที่จะตกลงกัน แต่ต้องแจ้งความประสงค์ว่าจะเช่าให้สถาบันการเงินทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่โอนทรัพย์สิน หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ประสงค์เช่าทรัพย์สิน สถาบันการเงินอาจนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าได้

 

ราคาทรัพย์สินที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกไม่เกิน 1% ต่อปีของราคาที่รับโอนและค่าใช้จ่ายอื่นที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สิน หักด้วยค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายระหว่างสัญญาเช่า

 

มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดที่สามารถโอนทรัพย์ชำระหนี้ไว้หรือไม่

 

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ไม่มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดไว้ ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินนั้นได้ โดยการพิจารณาวงเงินขึ้นกับข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีหนี้ท่วมทรัพย์ (มูลหนี้มากกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน) สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในส่วนที่เกินกว่ามูลค่าหลักประกันให้ผู้ประกอบการเพิ่มเติม

 

ผู้ประกอบธุรกิจจะยื่นขอเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้ที่ไหนบ้าง

 

ผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และมีทรัพย์สินนำมาวางเป็นหลักประกันก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 อยู่กับสถาบันการเงิน สามารถยื่นสมัครขอเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้ที่สถาบันการเงินนั้น ๆ โดยตรงตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

 

ระยะเวลาในการขอเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (asset warehousing)

 

ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอโอนทรัพย์ตามมาตรการฯ ได้ภายใน 2 ปีตั้งแต่ 20 เมษายน 2564 โดยกำหนดระยะเวลาการซื้อทรัพย์สินคืน ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่โอนทรัพย์สินหลักประกัน

 

ผู้ประกอบธุรกิจจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

 

ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ ให้แก่สถาบันการเงิน โดยจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจำนองและการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้แก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือสถาบันการเงิน รวมถึง ค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินหลักประกันคืนผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สิน

 

progress

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (ปิดโครงการ)

วงเงินสินเชื่อที่อนุมัติ 74,114.23 ล้านบาท 500 ราย

(ณ 9 เมษายน 2566)

progress

 

 

ข้อมูลอ้างอิงอื่น

 

1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564

2) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 4/2564 เรื่อง  มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564

3) ​มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)
4) คำถามคำตอบเกี่ยวกับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (ฉบับประชาชน)

5) แนวคำถามคำตอบ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (Q&A version 4.0 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564)