สวนยางที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยาง...ทางออกของเกษตรกรในยุคราคายางผันผวน

​นางสาวสุตาภัทร ม่วงนา
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน ถามว่าทำไมไทยถึงปลูกยางพารามากขนาดนี้? ต้องบอกว่า ยางพาราเป็นพืชที่มีข้อดีหลายประการ ประการแรกคือยางเป็นพืชที่ทำรายได้สม่ำเสมอ เพราะเป็นพืชที่กรีดได้เกือบทุกวัน เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีตลาดรองรับ 100% และยังมีเงินบำเหน็จจากการขายไม้ยางหลังการโค่นยางอีกด้วย ประการที่สองคือ ยางเป็นพืชที่มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ โดยยางต้นหนึ่งสามารถให้ผลผลิตนานกว่า 15 ปี ช่วงเวลาทำงานไม่มากนักเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน และหลังจากที่ลงทุนปลูกต้นยางแล้ว เกษตรกรสามารถเลือกใส่หรือไม่ใส่ปุ๋ยและยาในการบำรุงรักษาต้นยางก็ได้ ประการสุดท้ายคือ เกษตรกรมีความคาดหวังต่อยางสูง โดยคาดว่าราคายางในอนาคตจะสูงขึ้นไปเกินกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ดังเช่นในอดีต ด้วยข้อดีและความคาดหวังตามที่กล่าวมา ทำให้ยางพาราเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูก และแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วเกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร?

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนยาง พบว่า การทำให้สวนยางไม่ได้มีแค่ยาง เป็นคำตอบที่ดีในการรับมือกับความเสี่ยงจากราคายางที่ผันผวน กล่าวคือ เกษตรกรต้องปรับตัวโดยการปลูกพืชชนิดอื่นแซมในสวนยาง เพื่อสร้างรายได้เสริมและใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ คำถามที่จะเกิดขึ้นคือ ปลูกพืชอะไรแซมในสวนยางดี? ต้องบอกว่า พืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้มีหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะละกอ พืชสมุนไพร แต่เกษตรกรต้องคำนึงถึง (1) ชนิดของพืชตามความเหมาะสมของดินแต่ละพื้นที่และพืชที่เลือกปลูกสามารถอยู่ร่วมกับยางอายุเท่าไหร่ เนื่องจากคุณลักษณะพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน บางชนิดปลูกร่วมกับยางได้เฉพาะยางที่อายุไม่เกิน 3 ปี บางชนิดปลูกร่วมกับยางได้ถึงอายุ 10 ปี (2) ความรู้เกี่ยวกับพืชที่จะปลูก ทั้งในด้านการเพาะปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขยายพันธุ์ และอื่น ๆ เนื่องจากความรู้เหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนในการลองผิดลองถูก และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากตัวเกษตรกรเอง (3) ทดลองปลูกพืชในแปลงขนาดเล็กก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าพืชชนิดนั้น ๆ สามารถเติบโตได้ในพื้นที่ของเรา และเป็นต้นแบบสำหรับการคำนวณผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการเพาะปลูก (4) เมื่อทดลองในแปลงขนาดเล็กสำเร็จค่อยขยายผลไปสู่แปลงขนาดใหญ่ โดยปรับลดพื้นที่ปลูกยางบางส่วนเพื่อปลูกพืชดังกล่าว การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว ดังเช่นกรณี คุณพิเชษฐ์ ล่าบู เกษตรกรชาวสงขลา ประสบความสำเร็จจากการลดพื้นที่ปลูกยางบางส่วนมาปลูกกล้วยหอมทอง โดยหลังจากทดลองปลูกได้ระยะหนึ่ง พบว่า กล้วยหอมทองที่ปลูกเป็นพืชเสริมกลายมาเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว จึงขยายผลโดยลดพื้นที่ปลูกยาง ปัจจุบันคุณพิเชษฐ์มีพื้นที่สวนกล้วยหอมทองมากกว่าสวนยาง อีกกรณีตัวอย่างคือ คุณเสกสรร ชูเขียว เกษตรกรชาวสงขลา ประสบความสำเร็จจากการปลูกมัลเบอร์รี่เพียง 2 ต้นในสวนยาง ก่อนขยายพื้นที่โดยลดพื้นที่ปลูกยางบางส่วนลง และต่อยอดทดลองปลูกพืชอื่น ๆ จนขยายเป็นไร่นาสวนผสม ช่วยลดรายจ่ายให้กับครอบครัว และกรณี คุณเฉลิม ศรีสุข เกษตรกรชาวตรัง เริ่มทดลองปลูกเสาวรสในพื้นที่ 2 งาน จนขยายผลเป็นสวนเสาวรสในพื้นที่ 2 ไร่ และใช้วิธีการตัดต้นยางให้เหลือตอสูงแทนการลงทุนทำเสาสำหรับปลูกเสาวรส ช่วยลดต้นทุนการปลูกได้

หลังจากที่เกษตรกรทำให้ “สวนยางไม่ได้มีแค่ยาง” สำเร็จแล้ว คำถามต่อไปคือ ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน? แน่นอนว่า คำตอบง่ายที่สุดคงเป็นการขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่อาจถูกกดราคารับซื้อจนต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้น หากเราต้องการขายสินค้าในราคาตลาด เราต้องทำให้ตลาดรู้จักเรา โดย (1) ปลูกพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผลไม้ตามตัวอย่างข้างต้น หรือผักอินทรีย์ ซึ่งยังมีความต้องการสูง ทำให้หาช่องทางการขายได้ง่าย เช่นกรณี คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ เกษตรกรชาวสงขลา ประสบความสำเร็จจากการปลูกผักกูดอินทรีย์แซมในสวนยาง และต่อยอดทำไร่นาสวนผสมแบบอินทรีย์ ทำให้มีลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อสินค้าโดยตรงถึงสวน (2) ปลูกพืชให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน สิ่งนี้จะช่วยยกระดับผลผลิตให้เป็นที่รู้จัก ขายได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด ทำตลาดง่ายขึ้น และมีช่องทางการตลาดหลากหลาย โดยขอยกตัวอย่างคุณพิเชษฐ์อีกครั้ง หลังจากขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองและปรับกระบวนการผลิตจนได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) แล้ว การเข้ามามีบทบาทสำคัญของภาครัฐในการช่วยหาตลาดอย่างถึงที่สุด ทำให้คุณพิเชษฐ์ส่งขายกล้วยหอมทองในร้านสะดวกซื้อชั้นนำได้ (3) การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำสัญญาซื้อขายกับร้านค้าชั้นนำหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เป็นการทำตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบัน เนื่องจากการรวมกลุ่มจะทำให้มีสินค้ามากพอต่อความต้องการของร้านค้า และเมื่อการทำสัญญามีกำหนดเวลาแน่นอน ทำให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้และลดปัญหาด้านการตลาดของเกษตรกรในที่สุด จะเห็นได้ว่า หากเกษตรกรสามารถทำข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นได้ จะมีกลุ่มลูกค้าและช่องทางในการขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร

ท้ายที่สุดแล้ว การทำสวนยางที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยาง เกษตรกรต้องเลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชนั้น ๆ ทำการทดลองปลูกก่อนขยายผล และหากทำให้พืชของตนเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรย่อมสามารถรับมือกับความผันผวนของราคายางได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

อินโฟกราฟิก