​ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions): ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

กองทัพรัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อ 24 ก.พ. 65 นับเป็นการปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game changer) การจัดระเบียบโลกใหม่ ส่งผลให้ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Blackrock Geopolitical risk indicator) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบปี[1] บทความนี้นำเสนอสถานะของสงครามรัสเซียยูเครน และเปรียบเทียบกับสงครามความขัดแย้งในอดีต แนวโน้มการใช้นโนบายคว่ำบาตร (Sanctions) ตอบโต้ระหว่างกัน รวมทั้งนัยต่อการจัดระเบียบโลกใหม่ (New world order)

Battle pawn chess between Russia and Ukraine with USA and China chess standing for both countries political conflict and war concept by 3d rendering technique. 3d render illustration


สถานะล่าสุดสงครามรัสเซียยูเครน และบทเรียนจากสงครามในอดีต

สถาบันวิจัยด้านกิจการทหารของสหรัฐ (Institute for the Study of War)[2] นำเสนอสถานะสงครามรัสเซียยูเครนล่าสุด (5 Apr 22) จากรูป F1 พื้นที่สีแดงแสดงถึงพื้นที่การเข้ายึดครองแล้ว และการรุกคืบของกองทัพรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกของยูเครนเป็นหลัก โดยรัสเซียได้ยึดครองแคว้นไครเมีย (Crimea) ในปี 2014 และยึดครองภูมิภาคลูฮันสก์ (Luhansk) (93%) และโดเนตสก์ (Donetsk) (54%) ไปก่อนหน้านี้แล้ว อันเป็นเขตยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียสนับสนุน และเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งผลิตถ่านหินและเหล็กสำคัญของยูเครนซึ่งไล่ตั้งแต่เมืองมาริอูโปล (Mariupol) ทางตอนใต้ไปจนถึงพรมแดนทางตอนเหนือ[3] เป้าหมายของฝ่ายรัสเซียจะยังคงใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายหลักในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามของชาติตะวันตกกลุ่มนาโต้


ทางด้านยูเครนยังคงก่อการต่อต้านอย่างเป็นระบบในพื้นที่ทางภาคเหนือของยูเครนในแคว้นเคียฟ (Kyiv) (พื้นที่สีฟ้าในรูป F1) และบางส่วนของเมืองมาริอูโปล ส่วนรัสเซียมุ่งเน้นที่ "การปลดปล่อย" ในภูมิภาค Donbas ทางตะวันออก ล่าสุดในการเจรจาสันติภาพ (Peace talk) ที่กรุงอิสตันบูลเมื่อ 29 Mar 22 มีความคืบหน้าสำคัญคือ รัสเซียประกาศลดปฏิบัติการรอบกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน และรอบเมืองเชอร์นิฮิฟ (Chernihiv) ส่วนยูเครนยอมเลิกล้มความต้องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้[4]

จากงานศึกษาในอดีตของ Center for Strategic and International Studies (CSIS)[5] ของสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1946 สรุปได้ว่า

(1) โดยเฉลี่ย 26% ของสงครามระหว่างรัฐทั้งหมด การยุติความขัดแย้งเกิดขึ้นภายใน 30 วัน และสู้รบกันเฉลี่ย 8 วัน

(2) 25% ยุติภายใน 1 ปี

(3) 44% ยุติด้วยข้อตกลงหยุดยิง (Ceasefire agreement) หรือข้อตกลงสันติภาพ (Peace agreement)

(4) ในสงครามระหว่างรัฐที่สู้รบกันนานระหว่าง 1 เดือนถึง 1 ปี ยุติด้วยสัญญาหยุดยิง 24%

(5) หากสู้รบกันนานกว่า1 ปี สงครามจะขยายเวลาเฉลี่ยกว่าทศวรรษและส่งผลให้เกิดการปะทะกันเป็นระยะ (Sporadic clashes)

จากสถิติข้างต้น ผู้เขียนคาดว่าสงครามรัสเซียยูเครนน่าจะเป็นส่วนผสมของกรณี 4 และ 5 คือ ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันนานระหว่าง 1 เดือนถึง 1 ปี และจะยุติด้วยสัญญาหยุดยิง แต่จะมีการปะทะกันเป็นช่วงๆ ในแนวชายแดน


การใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร บังคับใช้บทลงโทษหรือมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) ต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน ที่สำคัญคือ สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น ห้ามการลงทุนใหม่ในรัสเซีย และการคว่ำบาตรขั้นสูงต่อสถาบันการเงินของรัสเซีย 2 แห่ง ได้แก่ Alfa Bank และ Sberbank ขณะที่อังกฤษได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรธนาคาร Sberbank ที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

ชาติพันธมิตรตะวันตกยังคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซีย ที่สำคัญคือ “การแช่แข็งสินทรัพย์เงินสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซีย 630 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (470 พันล้านปอนด์)” และธนาคารบางแห่งของรัสเซียถูกตัดออกจากระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือ “ระบบ SWIFT เพื่อหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งผลให้การชำระเงินการส่งออกพลังงานของรัสเซียลำบากขึ้น นอกจากนี้ จะแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียด้วยทั้งหมด โดยสหภาพยุโรปซึ่งพึ่งพาน้ำมันหนึ่งในสี่และก๊าซ 40% จากรัสเซีย จะพยายามทำให้ยุโรปเป็นอิสระจากพลังงานจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2573[6]

การใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยชาติพันธมิตรตะวันตกไม่ใช่เรื่องใหม่ จากงานศึกษาในอดีต[7] ของมาตรการคว่ำบาตรช่วง 1950-2019 (รูป F2) ในภาพรวม แนวโน้มการใช้มาตรการคว่ำบาตรทุกประเภทเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ การคว่ำบาตรทางการค้ามีสัดส่วนโน้มลดลงมาอยู่ที่ 18% ในปี 2019 จากมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ขณะที่การคว่ำบาตรทางการเงิน (Financial sanctions) และการจำกัดการเดินทาง (Travel sanctions) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 31% และ 20% ตามลำดับ โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรมากที่สุดคิดเป็น 1 ใน 3 ของการคว่ำบาตรทั้งหมด รองลงมาคือ EU และ UN



ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ และการคว่ำบาตร: ตัวเปลี่ยนเกมสู่ระเบียบโลกใหม่?

ช่วงที่ผ่านมา ชาติพันธมิตรและ UN ใช้มาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นต่อประเทศต่างๆ เพื่อเป้าหมายทางนโยบายระหว่างประเทศในวงกว้าง ทั้งด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การต่อต้านการ ก่อการร้าย และการเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศเป้าหมาย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (รูป F3) จากสงครามรัสเซียยูเครนและการใช้มาตรการตอบโต้ระหว่างกัน ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจเป็นตัวพลิกเกม (Game changer) นำไปสู่ระเบียบโลกใหม่ใน 3 ด้านหลักดังนี้


1) การลดระดับโลกาภิวัฒน์ (Deglobalisation) ที่มีมานานในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อชาติพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรหรือทำ "สงครามเศรษฐกิจ" กับรัสเซีย พยายามโดดเดี่ยวรัสเซียออกจากเศรษฐกิจโลก และยังทำให้เกิดการแบ่งขั้วของมหาอำนาจอย่างชัดเจนขึ้น[8] โดย IMF[9] ชี้ว่าว่าสงครามทำให้ต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เผชิญกับความท้าทายการรักษาสมดุลระหว่างการคุมเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งพึ่งฟื้นตัวจากโรคระบาด โดยประเทศในเอเชียยังรับแรงกดดันของเงินเฟ้อได้บ้าง จากที่มีการผลิตในท้องถิ่นและการพึ่งพาข้าวมากกว่าข้าวสาลี แต่ยังมีปัญหาจากการนำเข้าพลังงานในสัดส่วนสูง

2) ระบบหลายขั้วอำนาจ (Multipolarity) เปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างขั้วอำนาจเดียว(Unipolarity) ที่นำโดยสหรัฐฯ สงครามนี้ทำให้รัสเซียและจีนร่วมมือกันผลักดันให้เกิดระบบหลายขั้วอำนาจทั่วโลก ในรูปแบบ “ความร่วมมือระหว่างจีน-รัสเซียที่ไม่มีขอบเขต (China-Russia cooperation has no limits)” และจะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคและโลกในระยะข้างหน้าต่อไป[10]

3) นโยบายภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงาน (Energy geopolitics) อียูและอังกฤษพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับสูง เฉพาะก๊าซธรรมชาติในปี 2019 เฉลี่ยประมาณ 16 พันล้านคิวบิกฟุต (cubic feet) ต่อวัน สงครามนี้ทำให้อียูตัดสินใจเร่งกระบวนการ EU’s European Green Deal 2050 ที่เน้นไปใช้แหล่งพลังงานที่ปราศจากคาร์บอนและคาร์บอนต่ำ (Decarbonization of energy) [11]


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


ผู้เขียน :
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 8/2565 วันที่ 14 เม.ย. 2565




อ้างอิง :
[1] Blackrock Investment Institute (2022), Geopolitical risk dashboard, April
[2] Frederick W. Kagan, George Barros, and Karolina Hird (2022), Russian Offensive Campaign Assessment, Institute for the Study of War & AEI’s Critical Threats Project 2022, 5 April
[3] BBC News ไทย (2022), รัสเซีย ยูเครน : ทำไมรัสเซียต้องการล้อมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของยูเครน, 3 เม.ย.
[4] John Psaropoulos (2022), Ukraine-Russia Talks Offer Glimmer of Hope in Fifth Week of War, Aljazeera, 30 March
[5] Benjamin Jensen (2022), How Does It End? What Past Wars Tell Us About How To Save Ukraine, Center for Strategic and International Studies (CSIS), Washington DC, March 4
[6] BBC News (2022), What Sanctions Are Being Imposed On Russia Over Ukraine Invasion?, 6 April
[7] Aleksandra Kirilakha et al (2021), The Global Sanctions Data Base: An Update that Includes the Years of the Trump Presidency, Drexel Economics Working Paper Series WP 2021-10, Drexel University
[8] Sergei Klebnikov (2022), BlackRock CEO Larry Fink Says Russia-Ukraine War Is Upending World Order And Will End Globalization, Forbes, 24 March
[9] Alfred Kammer et al (2022), How War in Ukraine Is Reverberating Across World’s Regions, IMF Blog, 15 March
[10] Chris Devonshire-Ellis (2022), China, Russia Stand Firm In ‘New, Fair, Multipolar World Order’, China Briefing from Dezan Shira & Associates, 30 March
[11] Scott L. Montgomery (2022), War in Ukraine Is Changing Energy Geopolitics, The Conversation UK, 3 March