กลางปีที่แล้ว ผมเขียนถึงหนี้ครัวเรือนว่าเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ที่หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จะฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นจุดเปราะบางสำคัญของระบบการเงิน มีความเสี่ยงที่จะเห็นการผิดชำระหนี้ของครัวเรือนเป็นวงกว้าง หากเศรษฐกิจต้องสะดุดอีกครั้ง หรือวัฏจักรดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้น จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ที่สำคัญ แม้ ธปท. จะเห็นปัญหานี้ แต่ก็เกินกำลังที่ ธปท. จะแก้ปัญหาเพียงลำพังได้
ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงยินดีมากที่ถูกเรียกไปพบกรรมาธิการของรัฐสภาถึงสองชุดเพื่อชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่รัฐบาลประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” นับเป็นสัญญาณอันดีว่า ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแสดงความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้
การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนประกอบด้วยสองส่วน การจัดการกับก้อนหนี้ในปัจจุบัน และการชะลอการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต แน่นอนว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือการจัดการกับส่วนแรก เพื่อให้ครัวเรือนที่มีหนี้สินเกินตัวสามารถไปต่อได้
จากข้อมูลบนหน้าเว็บไซด์ของ ธปท. www.bot.or.th/covid19 พบว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 มีลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารทั้งสิ้น 5.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือผ่านช่องทางทางด่วนแก้หนี้ 254,324 บัญชี คลินิกแก้หนี้ 72,151 บัญชี และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 231,795 บัญชี
แม้จำนวนบัญชีข้างต้นจะดูสูง แต่ต้องบอกว่าสถานการณ์ยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่พอสมควร ทั้งนี้เป็นเพราะว่าส่วนใหญ่ของลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเป็นการยืดเวลาชำระหนี้ชั่วคราว ขณะที่มองไปข้างหน้า ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางทั้งด้านการจ้างงานและด้านรายได้ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพอิสระและลูกจ้างแรงงานในภาคบริการ จากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและไม่เท่าเทียมกันของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ ธปท. ต้องออกมาตรการเพิ่มเติม (มาตรการ 3 กันยายน 2564) ที่ให้แรงจูงใจกับสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยวิธีที่นอกเหนือจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว รวมถึงการออกกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้ (debt consolidation) และการรีไฟแนนซ์
ในความเห็นผม นอกเหนือจากการเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ และการเยียวยาและฟื้นฟูรายได้ภาคครัวเรือนที่รัฐกำลังพยายามทำอยู่ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนต้องก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญ 3 ประการ ประการแรก คือ เพียงประมาณ 3 ใน 4 ของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือนอยู่ใต้กำกับของ ธปท. โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งรวมๆกันแล้วเป็นผู้ปล่อยกู้หนี้ครัวเรือนรายใหญ่อยู่ใต้กำกับของกระทรวงเกษตรฯ ขณะที่บริษัทเช่าซื้อและลีสซิ่งจำนวนมากไม่มีผู้กำกับดูแล ประการที่สอง คือ หนี้นอกระบบ และประการสุดท้าย คือ ข้อมูลหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ
สำหรับอุปสรรคประการแรกนั้น การมีหลายผู้กำกับดูแลอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่ผู้กำกับดูแลมีความร่วมมือกัน ในปีที่แล้ว หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ทีมงานของ ธปท. ได้เข้าไปร่วมกับรัฐบาลในการวางแนวทางการสะสางปัญหาหนี้สหกรณ์ในส่วนของกลุ่มข้าราชการครูและตำรวจ ซึ่งจะมีการขยายผลในปีนี้ ขณะเดียวกัน สำหรับบริษัทลีสซิ่งที่ตอนนี้ยังไม่มีผู้กำกับดูแล ธปท. ก็ได้มีการประสานขอความร่วมมือในการช่วยเหลือลูกหนี้ไป
อย่างไรก็ดี ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าเป็นหนี้สหกรณ์ หรือหนี้ลีสซิ่ง ถือว่าเป็นหนี้ในระบบทั้งสิ้น ยังมีหนี้ครัวเรือนนอกระบบอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ใต้กำกับของหน่วยงานใดๆ ซึ่งในระยะหลัง หนี้นอกระบบเติบโตมาก จากปัจจัยเศรษฐกิจตกต่ำ และปัจจัยการให้บริการออนไลน์ที่ทำให้เข้าถึงผู้ต้องการเงินด่วนได้ง่าย
ประเด็นที่น่ากังวล คือ ครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมากมีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันราวกับฟ้ากับดิน ถ้าเน้นแต่การแก้หนี้ในระบบ แต่ไม่ได้ล้างหนี้นอกระบบไปด้วย สุดท้ายหนี้นอกระบบจะเพิ่มพูน และครัวเรือนก็จะจมกองหนี้อยู่ดี ซึ่งจากที่ผมเห็นโรดแมปแก้หนี้ข้าราชการครูและตำรวจ ไม่ได้พูดถึงการปลดหนี้นอกระบบแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในอนาคตระยะปานกลาง ที่ไทยจำเป็นจะต้องจำกัดการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต การบีบหนี้ในระบบอาจนำไปสู่การเติบโตของหนี้นอกระบบ การปราบปรามหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ครัวเรือนจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง
สำหรับอุปสรรคประการสุดท้าย เรื่อง ความเพียงพอของข้อมูล แบ่งออกได้เป็นสองประเด็นย่อย ประเด็นย่อยแรก เป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องหนี้นอกระบบ ผมไม่คิดว่าเราทราบว่าหนี้นอกระบบแท้จริงมีเท่าไร ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน พบว่าหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เท่ากับ 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2019 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่เกือบทุกคนที่ทำงานเรื่องหนี้นอกระบบที่ผมคุยด้วย บอกว่า หนี้นอกระบบน่าจะอยู่ในหลักแสนล้านบาท
ประเด็นย่อยที่สอง แม้แต่ข้อมูลหนี้ในระบบจำนวนมากก็ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร สืบเนื่องจากการเป็นสมาขิกเครดิตบูโรไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นความสมัครใจ สหกรณ์ส่วนใหญ่จึงเลือกไม่ส่งข้อมูลเข้าเครดิตบูโร แม้แต่สหกรณ์ ธปท. เอง ก็เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรไม่นาน ทั้งๆที่ ธปท. พยายามผลักดันให้สหกรณ์ขนาดใหญ่เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรมานานหลายปีก่อนหน้า นอกจากนี้ สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารบางแห่ง ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ทั้งๆที่มีขนาดใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การมีศูนย์รวมข้อมูลกลาง ซึ่งสุดท้ายอาจจะไม่ใช่เครดิตบูโรก็ได้ จะช่วยให้เราทราบว่าหนี้ที่เปราะบางในระบบมีมากน้อยแค่ไหน คนที่เปราะบางหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นหนี้กับสถาบันการเงินไหน และข้อมูลที่ครบถ้วนยังช่วยให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งสามอุปสรรคที่ผมยกมานี้ จริงๆ แล้ว คุยกันมานาน รอบนี้หวังว่าคงได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่งั้นคงยากที่เศรษฐกิจไทยจะปลดชนวนของระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือนได้
ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย