​เทรนด์ตลาดแรงงานกับทางเลือกสู่ “อาชีพอิสระ” ใน Gig Economy

โควิด 19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างตลาดแรงงานไทย ภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งการผลิตและการทำงานหลายรูปแบบทั้งทำงานที่ออฟฟิศ (Onsite) และทำที่บ้าน (WFH) โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบต้องหาทางรอดเปลี่ยนอาชีพ บทความนี้[1] นำเสนอผลสำรวจว่าแรงงานยุคโควิด-19 สนใจเส้นทางอาชีพอะไร และการพัฒนาทักษะแรงงานให้ไปถึงเป้าหมายควรมีรูปแบบอย่างไร

Young smiling asian man relaxing using laptop computer working and video conference meeting at home.Young creative man looking at screen typing message with smartphone.work from home concept


แรงงานยุคโควิด 19 กับทางเลือกสู่เทรนด์ “อาชีพอิสระ” ใน Gig economy

ก่อนวิกฤตโควิด 19 เทรนด์การทำงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance) ในยุค Gig economy ที่ทำงานไม่ประจำ ทำงานหลายจ๊อบ มีอิสระ ในสหรัฐฯ เริ่มนิยมมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อตั้ง Freelancers Union ในปี 1995[2] ส่วนใหญ่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม (Platform economy) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ธุรกิจจับคู่ระหว่างผู้เสนอขายกับผู้เสนอซื้อในสินค้าและบริการ ผ่านกลไกช่องทางแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2015 สหรัฐฯ มีแรงงานฟรีแลนซ์อยู่ประมาณ 53 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมด

การประกอบอาชีพอิสระนับเป็นทางเลือกทางรอดหนึ่งของแรงงานยุคโควิด 19 สะท้อนจากผลสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรล่าสุด Q4-2021[3] ระบุว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้โครงสร้างการจ้างงานของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ธุรกิจลดการจ้างแรงงานลง และผลักดันให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ผู้ผลิตเร่งการใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่แรงงานคน[4] เพื่อให้กระบวนการผลิตไม่หยุดชะงักในช่วงของมาตรการ Social distancing


นอกจากนี้ เรายังเห็นเทรนด์ที่แรงงานจบใหม่มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ผู้เขียนสังเคราะห์ข้อมูลระดับลึกจากผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (Reskill/Upskill/Newskill) [5] ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจำนวน 1,425 คน พบว่าจากผู้ตอบข้อนี้ 1,381 คน เกือบ 60% ต้องการประกอบอาชีพอิสระ โดย 4 อันดับแรกของอาชีพที่สนใจ คือ เกษตรกร Smart farmer 26% รองลงมาคือ ร้านขายอาหาร/ขายกาแฟ 24% ขายของออนไลน์ 19% และขับรถส่งของเดลิเวอรี 10% (รูป F.1)

ในมิติด้านการศึกษา พบว่าแรงงานที่จบปริญญาตรีสนใจประกอบอาชีพอิสระเป็นผู้ประกอบการรายย่อยขายของออนไลน์มากสุด น่าจะมาจากมีทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัล และใช้ทุนตั้งต้นไม่มากนัก ส่วนแรงงานที่จบมัธยมศึกษา/ปวช. สนใจเป็นเกษตรกร Smart Farmer มากกว่า ขณะที่ทั้งสองกลุ่มสนใจเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเปิดร้านขายอาหารและขายกาแฟในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน


ติดอาวุธทางปัญญา: Reskill/Upskill และความสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่

งานศึกษาในอดีต[6] พบว่าแรงงานตอนต้น (อายุ 15-29 ปี) ได้รับผลกระทบการถูกเลิกจ้าง/ ลดชั่วโมงทำงานจากวิกฤตโควิด-19 มากกว่าแรงงานผู้ใหญ่ (อายุ 30 ปีขึ้นไป) เนื่องจากมีสัดส่วนแรงงานในกลุ่มนี้ทำงานในธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหารและธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมากกว่า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานฯ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบกลุ่มใหญ่สุดคือ แรงงานอายุ 26-35 ปี (39%) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 36-45 ปี (26%) สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการพัฒนาทักษะฝีมือแก่แรงงานกลุ่มนี้ไม่ว่าจะทำอาชีพเดิม หรือเลือกอาชีพใหม่เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการหารายได้ในระยะยาว


ผลสำรวจฯ (รูป F2) พบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 935 คน มีความต้องการรับการฝึกอบรมและการสนับสนุนเพิ่มเติม และอีก 50% ไม่ต้องการฝึกทักษะ ที่น่าสนใจคือ ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของ WEF กรณีของไทยที่จัดทำในปี 2018[7] (รูป F3) โดยระบุเพิ่มเติมว่า 30% ของคนทำงานทั้งหมดต้องพัฒนาทักษะ 1-6 เดือน และ 20% ต้องพัฒนาทักษะ 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ ในกลุ่มแรงงานที่ต้องการฝึกอบรมพบว่า 60% ต้องการพัฒนาทักษะในงานเดิมเมื่อสถานประกอบการกลับมาเปิดดำเนินการ และ 40% เพื่อหางานใหม่ สะท้อนถึงดีมานด์การฝึกอบรมของลูกจ้างอย่างขนานใหญ่ในระยะข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ New skill sets .ในการทำงานรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นขึ้น รวมถึงการทำงานทางไกลด้วย

ทักษะสำคัญที่แรงงานต้องการเพิ่มเติม คือ (1) ด้านการบริหาร/ธุรกิจ/การตลาด (2) ทักษะการพัฒนาตนเอง (3) ภาษา (4) การขายสินค้าออนไลน์ และ (5) คอมพิวเตอร์และโปรแกรม ตามลำดับ ขณะที่ด้านนายจ้างต้องการให้แรงงานพัฒนาทักษะระดับงานในหน้าที่ทั้ง Hard skill และ Soft skill (แก้ปัญหาเชิงซับซ้อนและการสื่อสาร) ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ภาษา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม การทำงานได้รอบด้าน และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ


การยกระดับทักษะของฟรีแลนซ์ และสร้าง Fair Work Ecosystem

ปัจจุบันภาครัฐกับภาคเอกชน[8] ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเตรียมพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้จัดตั้ง 3 สถาบันที่ได้ดำเนินการแล้ว ด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและหุ่นยนต์ คือ สถาบัน AHRDA และ สถาบัน MARA และ ด้านทักษะดิจิทัล คือสถาบัน DISDA และอีก 2 สถาบันด้านการเกษตร Smart Farmer ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ด้านการเกษตรให้มีต้นทุนถูกลง

ในระยะข้างหน้า ยังมีความท้าทายด้านการพัฒนาทักษะอาชีพอิสระ 2 กลุ่ม ดังนี้

1) กลุ่มทำงานฟรีแลนซ์ ที่มีแนวโน้มเติบโตครอบคลุมทั่วโลกไม่เฉพาะในอียูและสหรัฐฯ ในไทยงานฟรีแลนซ์ที่ใช้ทักษะระดับกลางและสูงรวมถึงทักษะดิจิทัลยังขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้อยู่มาก แตกต่างจากในต่างประเทศที่แรงงานฟรีแลนซ์กระจายในหลากหลายอาชีพและมีรายได้สูงกว่าของไทย เช่น ด้าน Web & Graphic Design มีสัดส่วน30% ด้าน Programming (19%) และ ด้าน IT (10%) (ข้อมูลรายงาน 2020 Freelancer Income Report)[9] (รูป F4) นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายของการสร้างระบบนิเวศน์การทำงานที่เป็นธรรม (Fair work ecosystem)[10] 5 ด้านหลักให้เกิดขึ้นด้วย คือ ค่าจ้าง สภาพการทำงาน (การป้องกันจากโรคระบาด) สภาพการทำงาน (กรณีเจ็บป่วย) สัญญาการว่าจ้าง และการบริหารจัดการ (Fair management)


2) กลุ่มผู้ประกอบรายย่อยทั้งด้านเกษตรและธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะความรู้ด้านบริหารธุรกิจ และการตลาดผ่านระบบออนไลน์ และการขาดเงินทุนเริ่มต้นและการลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยี เป็นต้น

เทรนด์อาชีพและความต้องการพัฒนาทักษะแรงงานย่อมปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน โดยได้สร้างความท้าทายต่อการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน หรือจะเป็นผู้ประกอบการ ย่อมส่งผลต่อการออกแบบระบบการศึกษาให้สอดคล้องกัน และสิ่งสำคัญคือ “การมีทักษะการเรียนรู้ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในชีวิตในยุคนี้”



ผู้เขียน :
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 5/2565 วันที่ 1 มี.ค. 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


อ้างอิง:

[1] เสาวณี จันทะพงษ์ (2022), "บทบาทและความท้าทายของสภาที่ปรึกษาพัฒนาแรงงานแห่งชาติต่อการพัฒนาทักษะแรงงานไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก", การสัมมนาไตรภาคีทางวิชาการเรื่อง "45 ปี สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาแรงงานของประเทศไทย" ศุกร์ที่ 11 ก.พ. 2565 ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ กระทรวงแรงงาน และ Zoom Cloud Meeting

[2] Sara Horowitz (2015), "Freelancers in the U.S. workforce," Monthly Labor Review, U.S. Bureau of Labor Statistics, October

[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2022), สรุปผลที่สำคัญสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2564

[4] สุชาติ พรชัยวิเศษกุล (2021), อธิบดีกรมการจัดหางาน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน, บทความแนวโน้มตลาดแรงงานหลังประชาชนได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว, 24 พ.ค. 53ece25ca77fe3f407faaebe7c87db66.pdf (doe.go.th)

[5] แบบสอบถามและรายงานโครงการศึกษาวิเคราะห์เรื่อง “การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อยกระดับการทำงานและพัฒนาสู่อาชีพใหม่ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (ทุกกรณี) ปี 2564 จัดทำโดยสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

[6] เสาวณี จันทะพงษ์ (2021), ผลกระทบจากวิกฤต COVID ต่อกลุ่มแรงงานตอนต้น, รายงาน "แรงงานไทยในยุค COVID-19 รวมมุมมองต่อสถานการณ์แรงงานไทยในยุคโควิด 19" , CU-ColLaR, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (2564)

[7] World Economic Forum (2018), The Future of Jobs Report 2018, Insight Report, Centre for the New Economy and Society

[8] รายงานการประชุมสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ (2020), รายงานการประชุมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 วันที่ 18 ธ.ค. (เอกสารโรเนียว) และ AHRDA (Automotive Human Resource Development Academy) และ MARA (Manufacturing Automation and Robotics Academy) (3) DISDA (Digital Skill Development Academy)

[9] Payoneer, 2020 Freelancer Income Report

[10] Fairwork (2020), The Gig Economy and Covid-19: Fairwork Report on Platform Policies, The Fairwork Project, Oxford Internet Institute, April