​ หนี้ครัวเรือนไทย : เพราะเหตุใดจึงต้องกังวล?

ช่วงนี้ถ้าใครได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับคำว่า "หนี้ครัวเรือน" โดยอันที่จริงแล้ว กว่าทศวรรษที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนตกเป็นประเด็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจ เนื่องจากหนี้ที่เร่งตัวขึ้นมาก ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง และเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนไทยโตเร็วเป็นลำดับต้น ๆ

stressed woman trying money to pay credit card debt and many expenses bills such as electricity bill,water bill,internet bill,phone bill during covid-19 or coronavirus outbreak at home

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงของหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพยายามออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบและตรงจุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดประสิทธิผลได้จริงและยั่งยืน[1]

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายท่านสอบถามผู้เขียนมาว่าพอจะเห็นข่าวเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนบ้าง แต่ยังไม่เข้าใจนักว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล?

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้คนในวงกว้างถึงความน่ากังวลและต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ไขปัญหาและตัวช่วยต่าง ๆ ธปท. และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงได้ร่วมกันสร้างสื่อเว็บไซต์รูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า Data Scrollytelling เรื่อง "หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม?" ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นาน และสนุกสนานในการเรียนรู้ บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้ จึงขอเชิญทุกท่านเข้าไปทดลองเรียนรู้ได้ และขอยกข้อมูลส่วนหนึ่งจากในนั้น เพื่อตอบคำถามเป็นน้ำจิ้มให้ท่านผู้อ่านดังนี้ครับ[2]

เพราะเหตุใดสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยจึงน่ากังวล? เป็นเพราะเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ในอนาคต (non-productive loan) โดยข้อมูลสินเชื่อในระบบจากเครดิตบูโร ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมดเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งมักเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต และยังมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูงตามมา (บางท่านอาจสงสัยว่าแล้วสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (หนี้บ้าน) ซึ่งไม่ได้อยู่ในประเภทนี้ล่ะ? ปรากฏว่า สำหรับไทย คิดเป็น 35% ของสัดส่วนมูลค่าหนี้ทั้งหมด ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ใกล้เคียงกับไทย เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งหนี้บ้านคิดเป็น 62% และ 73% ของมูลค่าหนี้รวมทั้งหมดของแต่ละประเทศ ตามลำดับ)

ประการที่สอง หนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ โดย 1 ใน 5 ของคนไทยที่มีหนี้นั้น กำลังมีหนี้เสีย หรือคิดเป็นกว่า 5.8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (20-35 ปี) มีสัดส่วนสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้เป็นสัดส่วนสูงที่สุดและมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดถึง 1 ใน 4 อีกด้วย! ซ้ำร้าย กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio) สูงที่สุด และสุ่มเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือบางส่วน อันทำให้เป็นการยากที่จะหลุดพ้นจากวังวนปัญหาหนี้ไปได้

แล้วปัญหาสำคัญ 2 ประการข้างต้นจะส่งผลกระทบอย่างไร? ปัญหาประการแรก ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการเอาไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการหรือลงทุน ปัญหาประการที่สอง ยังมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวคือ หากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อม ๆ กัน ก็อาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียในวงกว้างจนกลายเป็นวิกฤตได้ ทั้งนี้ ปัญหาทั้งสองประการอาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ปัญหาสังคมที่คนถูกกดดันจากภาระหนี้ อาจเริ่มก่ออาชญากรรม จนทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ปัญหาหนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของครัวเรือนที่ลดลงตามจำนวนคนทำงานหารายได้

คงเห็นแล้วนะครับว่าเหตุใดจึงต้องกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย… แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ขอเชิญทุกท่านหาคำตอบที่ https://projects.pier.or.th/household-debt/ ได้เลยครับ

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด


[1] สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเอกสารทิศทางและแนวนโยบาย "แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน"

[2] อ่านประเด็นสำคัญเพิ่มเติมได้ที่ PIER Blog บทความ "หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม?" โดย ดร.ลัทธพร รัตนวรารักษ์ และ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2566