ท่ามกลางสถานการณ์ของโควิด-19 ในปัจจุบันที่ทุเลาลงแล้วในหลายประเทศ สภาพการทำงานเดิมที่คุ้นเคยสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คือ การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home : WFH) อาจจะถึงคราวสิ้นสุด เห็นได้จากบางบริษัทที่ได้วางนโยบายให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ (Work from Office : WFO) อย่างเต็มรูปแบบแล้ว 100% อย่างไรก็ดี หลายบริษัทยังสนับสนุนแนวทางแบบ hybrid คือ การผสมผสานระหว่าง WFH กับ WFO เข้าด้วยกันตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ผู้ทำงานเองก็อาจมีจริตความชอบ สไตล์การทำงาน รวมถึงบทบาทในการทำงานที่แตกต่างกันด้วย (แน่นอนว่า ไม่นับรวมประเภทหรือบทบาทการทำงานที่ยังไงต้องเข้าออฟฟิศอยู่แล้ว ทำงานจากที่บ้านไม่ได้) ผู้เขียนจึงขอสำรวจจุดเด่นสำคัญของการทำงานทั้งสองรูปแบบโดยไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น แต่อ้างอิงจากงานวิจัยและผลการสำรวจบางส่วนมาชวนท่านผู้อ่านคิดตามกันวันนี้ครับ ทั้งนี้ ต้องบอกไว้ก่อนว่า แต่ละองค์กรอาจมีลักษณะแตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงาน บุคลิกลักษณะและความชอบของผู้บริหารและพนักงาน บางจุดเด่นก็อาจไม่ได้เป็นจริงกับองค์กรนั้น ๆ เสมอไป และบางจุดเด่นเองก็มีงานวิจัยที่ให้ข้อสรุปแตกต่างไปจากงานวิจัยส่วนใหญ่ด้วย

Online Virtual Meetings, Work from Home WFH During Coronavirus COVID-19 Pandemic Outbreak. Teleconference TV Video Conference Webinars or Remote Working. Enterprise Web Cloud Service Software Concept

จุดเด่นสำคัญของ WFH มีอยู่หลายประการ อาทิ 1) ผลิตภาพ (productivity) ของคนทำงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากหลายงานวิจัย เช่น งานวิจัยอันโด่งดังจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด Bloom et al. (2015) ที่ศึกษาพนักงาน 16,000 คนในบริษัท CTrip (บริษัทเทคโนโลยีการท่องเที่ยวของจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ) และพบว่าพนักงานมีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศ หรือ Choudhury et al. (2021) ที่พบว่าการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) เพิ่มผลิตภาพพนักงานถึง 4% แม้ว่าในปัจจุบันจะมีงานวิจัยที่ให้ข้อสรุปแตกต่างออกไป เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก Gibbs et al. (2021) ที่ระบุว่าผลิตภาพของคนทำงานลดลงจากการ WFH 2) การประหยัดต้นทุนพลังงานและเวลาในการเดินทาง สะท้อนจากงานวิจัยล่าสุด เช่น Barrero et al. (2021) ซึ่งประเมินว่าช่วยประหยัดต้นทุนของคนทำงานกว่า 5-10% ในการทำงานในเมืองใหญ่ ๆ เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ยิ่งหันกลับมามองประเทศไทยและสถานการณ์น้ำมันแพงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสัญจรในเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพฯ แล้ว จุดเด่นข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ลง 3) ทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะการได้ใช้เวลากับครอบครัว สะท้อนจากหลายงานวิจัยและผลสำรวจต่างประเทศ เช่น Barrero et al. (2021) หรือผลสำรวจในประเทศไทยเอง เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี 2564 ที่ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 45.3% ระบุว่าพึงพอใจจากการมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วน เช่น Bellmann and Hubler (2020) ชี้ให้เห็นว่า ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่มีผลในระยะยาว หรือ Möhring et al. (2020) ที่พบว่า ความพึงพอใจดังกล่าวอาจถูกลดทอนในกรณีสถานที่ที่บ้านไม่พร้อมในการทำงาน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีเด็กเล็กและใช้ห้องทำงานร่วมกัน


ในทางกลับกัน จุดเด่นสำคัญของ WFO ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญอีกด้านหนึ่งของ WFH เช่น 1) ความคล่องตัวในการทำงานที่ออฟฟิศที่มากกว่า WFH อาทิ อุปกรณ์การทำงานที่เพียบพร้อมกว่าที่บ้าน โดยเฉพาะอุปกรณ์และระบบ IT สะท้อนจากผลการสำรวจเช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2) ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานในออฟฟิศที่ดีกว่า โดยการติดต่อประสานงานระหว่างทีมที่อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบทางการเสมอไป เช่น Gibbs et al. (2021) ซึ่งชี้ให้เห็นต้นทุนการสื่อสารระหว่างกันในการทำ WFH ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนทำงานด้วยกันอาจเกิดจากอวัจนภาษาในการพูดคุยแบบตัวต่อตัวได้มากกว่าการพูดคุยแบบออนไลน์ ตลอดจนการสอนงานหรือ coaching พนักงานใหม่ที่เวลาเจอหน้ากันจะทำได้ดีกว่า 3) ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) ซึ่งอาจเกิดขึ้นน้อยกว่าการ WFH สะท้อนจากการ WFH ที่พบระยะเวลาในการทำงานยาวนานขึ้นในแต่ละวัน เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด DeFilippis et al. (2020) ชี้ว่า WFH ทำให้ระยะเวลาในการทำงานต่อวันเพิ่มขึ้น 8.2% หรือ 48.5 นาทีต่อวัน มีประชุมถี่ขึ้นและไม่มีเวลาพักผ่อน

จากการทำงานทั้งสองรูปแบบดังกล่าว ซึ่งมีจุดเด่นของตนเองทั้งคู่ ผู้เขียนคงไม่อาจสรุปได้ว่าองค์กรหรือบริษัทควรจะไปทางไหนดี แต่ที่พอจะสรุปได้คือ ไม่จำเป็นต้องสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง แต่อาจเลือกแบบผสมผสาน ซึ่งนำข้อดีของแต่ละรูปแบบผสมกัน และที่สำคัญคือในแต่ละองค์กร ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน คงต้องหาแนวทางหรือจุดสมดุลที่ตกลงร่วมกันของผู้บริหารและพนักงานในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสุขกันทุกฝ่ายต่อไปครับ!


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย