ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

28 ตุลาคม 2566

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงความสำคัญของการลงทุนในการพัฒนาประเทศ สัปดาห์นี้จะมาชวนคิดเรื่องนี้กันต่ออีกนิด แบ่งเป็น 2 ประเด็นย่อยคือ ทำไมการลงทุนในประเทศไทยถึงต่ำ และเราพอจะมีทางออกแบบ quick win บ้างไหม

Thai regions

การลงทุนที่ต่ำมาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐมีข้อจำกัด เนื่องจากร้อยละ 75  ของงบประมาณเป็นรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ และอีกเกือบร้อยละ 5 ต้องแบ่งไปชำระคืนหนี้ ที่เหลือจึงเป็นงบลงทุน เราคงไม่สามารถลดเงินเดือนข้าราชการเพื่อแบ่งมาเป็นงบลงทุน วิธีที่พอจะทำได้คงหนีไม่ผลเรื่องการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือต้องปฏิรูปการเก็บภาษีเพื่อให้ได้รายได้มากขึ้น เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

 

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ทำไมการลงทุนของภาคเอกชนถึงต่ำ อะไรที่จะทำให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในประเทศไทยแน่ๆ คำตอบคือ ลงทุนแล้วกำไรต้องดีและยั่งยืนหรือมีความเสี่ยงต่ำ ถ้าเราสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ “high return and low risk” ยังไงการลงทุนก็มา ปัญหาคือเราเป็นประเทศที่กำไรต่ำและมีความเสี่ยงสูง อัตราผลตอบแทนของการลงทุนจากต่างชาติ (return on FDI) สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 5 ส่วนของอินโดนีเซียและมาเลเซียสูงกว่าเราประมาณ 2 เท่า ด้านความเสี่ยง ประเทศไทยก็มีความไม่แน่นอนสูงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดย Political Stability Index ของไทยอยู่อันดับแย่กว่าหลายประเทศในอาเซียน จึงไม่น่าแปลกใจที่การลงทุนของเราต่ำ

 

เรื่องความเสี่ยงหรือความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่ขอกล่าวถึง  แต่ปัจจัยสำคัญอย่างกำไรที่ต่ำนั้น สามารถแยกออกมาเป็น 2 ส่วน คือ ยอดขายต่ำ ต้นทุนสูง ที่ยอดขายน้อยเพราะตลาดในประเทศเรามีขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 70 ล้านคน และได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำ ทำให้กำลังซื้อจากคนในประเทศมีจำกัด นอกจากนี้ การเข้าถึงตลาดต่างประเทศก็สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ เพราะเรามีจำนวนข้อตกลงทางการค้า (FTA) น้อยกว่า มาดูด้านต้นทุนกันบ้าง ค่าแรงขั้นต่ำของเราก็สูงกว่าหลายประเทศในแถบนี้ ระบบขนส่งยังมีต้นทุนที่สูงและอ่อนไหวต่อราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเสมอ นอกจากนี้ เรายังมีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนและล้าสมัย ล้วนเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ     

 

ประเด็นที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ การลด ละ เลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น คือทางออกแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะทางออกนี้มีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำ สามารถลดทั้งต้นทุนโดยตรงที่เกิดจากกฎเกณฑ์ และต้นทุนโดยอ้อมที่แฝงมาอยู่ในรูปแบบของการคอร์รัปชัน ต้นทุนแฝงนี้มีอิทธิผลต่อกำลังซื้อในประเทศอย่างมาก เพราะเมื่อมีต้นทุนดังกล่าวสูง ภาคธุรกิจจะถูกบีบให้ต้องลดต้นทุนด้านอื่น เช่น กดค่าแรง หรือไม่ก็ต้องส่งผ่านไปยังราคาที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ทำให้กำลังซื้อในประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ การลด ละ เลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น ยังสามารถช่วยส่งเสริมการแข่งขันด้วย เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนด้านการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ (lower barrier to entry)

 

จะเห็นได้ว่า การลด ละ เลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น คือ quick win โดยแท้ นอกจากจะสร้างกำไรให้ภาคธุรกิจแล้ว ยังสามารถเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และส่งเสริมการแข่งขันได้อีกด้วย ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ หากทำได้ รัฐบาลจะสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้มากกว่าปกติ โดยที่ไม่สร้างปัญหาเงินเฟ้อ เราจะมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว พร้อมกับการลงทุนที่สูงขึ้น ท่านเห็นรึยังครับว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวจริงๆ  

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
สรา ชื่นโชคสันต์

ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ

ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2566