มาปลุกวิญญาณการออมและร่วมกันแก้หนี้กันเถอะ
31 ตุลาคม 2566
วันนี้ 31 ตุลาคม 2566 เป็นวันที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนามวันฮาโลวีน แต่แท้ที่จริง ยังเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือ “วันการออมแห่งชาติ” ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาร่วมปลุกวิญญาณการออมและร่วมกันแก้หนี้ค่ะ
เมื่อพูดถึงการออม คงได้รับคำตอบนานาทรรศนะ หนึ่งในนั้น คงหนีไม่พ้นว่า ไม่มีเงินออม มีแต่หนี้ ดังนั้น เงินออมและหนี้จึงมีความสัมพันธ์กัน ผ่านการปรับรายรับและรายจ่ายว่าอย่างใดจะสูงกว่ากันนะคะ หากการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ก็ย่อมมีเงินเหลือสะสมเป็นเงินออมได้ ดังคำกล่าวที่ว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาทกัน ในทางตรงข้าม หากมีเงินน้อยแต่กลับใช้จ่ายมากกว่าที่ทำมาหาได้ ก็เลี่ยงไม่พ้นเรื่องการก่อหนี้
จากผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดย ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตามกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)[1] พบว่า คนส่วนใหญ่มีแรงจูงใจสำคัญในการออมจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียง 20% ที่แบ่งเงินเพื่อการออมไว้ก่อนจะนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย จึงทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายการออมที่ตั้งใจไว้กัน รวมทั้งยังพบว่า ปัญหาเงินไม่พอใช้ของคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคน 26 ประเทศที่ตอบแบบสำรวจ OECD ค่อนข้างมาก จึงเป็นจุดอ่อนที่ควรเร่งปิด
เหตุใดจึงมีปัญหาเงินไม่พอใช้ค่อนข้างมากจนต้องก่อหนี้ครัวเรือนกัน
ส่วนหนึ่งเพราะขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความไม่แน่นอนในชีวิต ซึ่งทางแก้ปัญหาอาจเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถในการปรับตัว ให้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของความไม่พร้อมทางการเงินอีกประการหนึ่ง คือปัญหาอคติเชิงพฤติกรรม จากงานศึกษาของ TDRI สะท้อนถึง อคติชอบปัจจุบัน (Present bias) ที่ว่าการใช้จ่ายเพื่อความสุขในวันนี้มากกว่าการออมเพื่อความสุขวันหน้า และจากงานวิจัยของ PIER พบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็ว โดย 60% ของคนอายุน้อยเป็นหนี้ และเป็นหนี้นานและเป็นหนี้จนแก่ โดย 20% ของคนหลังเกษียณก็ยังเป็นหนี้ หนทางในการแก้ปัญหาจึงมี 2 เรื่องสำคัญคือ การส่งเสริมพฤติกรรมสร้างเงินออมภาคครัวเรือน และ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
1. การสร้างพฤติกรรมการออม
ก่อนที่จะมีเงินออมได้ ควรต้องมีการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมเสียก่อน คำถามที่สำคัญคือเคยมีการตรวจสุขภาพการเงินส่วนบุคคลกันบ้างไหม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยแบ่งเงินที่รับต่อเดือน ว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็น และเงินออมแต่ละเดือนแล้วหรือยัง การจัดทำบัญชีครัวเรือนจะช่วยให้วางแผนว่ามีรายจ่ายใดที่อาจตัดออกได้ พวกรายจ่ายที่เกินจำเป็น เช่นรายจ่ายซื้อของฮิตติดเทรนด์บ่อยๆ หรือ รายจ่ายที่ไม่เหมาะสม เช่นการพนัน หรือ รายจ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ที่จริงๆ แล้วสามารถแปรสภาพรายจ่ายดังกล่าวนี้เป็นเงินออมเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินในวันหน้าได้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรเร่งปลูกฝังการออมตั้งแต่อายุยังน้อยกันนะคะ ผู้สนใจ สามารถจูงลูกๆ หลานๆ มาที่ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. มีให้บริการนิทรรศการความรู้ทางการเงิน (BOT Money Terminal) ที่ชั้น 1 และพิพิธภัณฑ์ ธปท. ที่ชั้น 2 บรรยากาศดีริมน้ำเจ้าพระยา (ปิดวันจันทร์) หรือเข้าเยี่ยมชม สตางค์ story ในเว็บไซต์ ธปท. ได้ทุกเวลาค่ะ
2. การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ ธปท. จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผนึกกำลังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร โดยการออกมาตรการ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่จะเริ่ม 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
มาตรการ Responsible lending มีอะไรบ้าง
ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เริ่มจาก (1) ก่อนเป็นหนี้ ก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว (2) ระหว่างเป็นหนี้ ก็ต้องให้ข้อมูลกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ เช่น จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย (3) เมื่อลูกหนี้มีปัญหา ก็ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถชำระหนี้ และ (4) เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ก็ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้และผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขชำระหนี้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ จะมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน ที่มีรายได้น้อยและเป็นหนี้เรื้อรัง (จ่ายดอกเบี้ย มากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ โดยลูกหนี้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ต้องปิดวงเงินเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่มและควรมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธปท. ยังพิจารณาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อดูแลภาคการเงินที่ยั่งยืน ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดของ การเงินเพื่อความยั่งยืนนี้ได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. ค่ะ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนทางการเงินส่วนบุคคล โดยสิ่งดีๆ คงเริ่มจากที่ตัวเราเองก่อน ตั้งเป้าหมายการเก็บออมต่อเดือน และลงมือทำบัญชีครัวเรือนกัน ส่วนที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ก็ลองสำรวจดูว่า จะสามารถเตรียมการเพื่อจะเข้าร่วมโครงการเพื่อปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี กันนะคะ ผู้เขียนขอเอาใจช่วยให้คนไทยทุกคนมีการวางแผนทางการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินส่วนบุคคลที่ดีรับวันออมแห่งชาติกันค่ะ
[1] The Organization for Economic Cooperation and Development
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **