5 มุมมอง ความเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค

10 ตุลาคม 2566

สวัสดีเจ้า สบายดีบ่ กินข้าวแล้วม้าย” เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ อีสาน และใต้ ที่ต่างคุ้นหูผู้มาเยือน และด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทำให้หลาย ๆ จังหวัดของไทยกลายเป็นเป้าหมายการเดินทาง เพื่อชาร์จแบตให้กับชีวิต ใช้เป็นพื้นที่ฮีลใจ สร้างสารโดพามีน (สารแห่งความสุข) ของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาพักผ่อน และเป็นสถานที่ทำงานของกลุ่ม Digital Nomad ที่ไทยติด Top 10 อาทิ เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) กรุงเทพฯ (อันดับที่ 2) และ จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9)[1] ด้วยเสน่ห์ของภูมิภาคไทยมีหลายมิติ บทความนี้จึงขอชวนทุกท่านส่อง ความเป็นอยู่ของคนใน 3 ภาคนี้ ที่มีมากถึง 43 ล้านคน หรือ 65% ของประชากรไทยทั้งหมด[2] ว่าเป็นอย่างไร ผ่านการวิเคราะห์ความเป็นอยู่โดยใช้เครื่องชี้ด้านต่าง ๆ [3] ซึ่งพบ 5 มุมมองที่สำคัญ ดังนี้

Thai regions

มุมมองที่ 1 คนใต้อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีที่สุด จากที่มีฝุ่นละอองในอากาศ (PM 2.5) และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี ต่ำกว่าภาคอื่น ๆ โดยพังงาและระนอง เป็น 2 จังหวัดมีทั้งค่า PM 2.5 น้อยและอุณหภูมิต่ำสุดติด Top 5 ของประเทศ

 

มุมมองที่ 2 คนอีสานอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยสูง จากมีจำนวนการแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์น้อยสุด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ทำการเกษตร (47% ของคนอีสานทำเกษตร) ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน โดย 2 จังหวัดในภาคอีสานติด Top 5 จังหวัดที่มีจำนวนคดีฯ น้อยที่สุดของประเทศ ได้แก่ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ สำหรับอีก 3 จังหวัดอยู่ในภาคเหนือ ได้แก่ น่าน พะเยา และเชียงราย

 

มุมมองที่ 3 พัฒนาการเด็กเล็กและการเรียนรู้ของเด็กโตภาคเหนือดีที่สุด โดยเหนือและอีสาน มีสัดส่วนเด็ก 0-5 ปี ที่มีพัฒนาการสมวัยสูง โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์และอุตรดิตถ์ ในภาคเหนือ ร้อยเอ็ดและขอนแก่น ในภาคอีสาน สำหรับช่วงวัยเด็กโตดูจากคะแนน ONET ภาคเหนือมีคะแนนสูงและมีข้อสังเกตว่า คะแนน ONET ของภาคเหนือสูงแบบไม่ได้มีจังหวัดใดมีคะแนนกระโดดไปจากจังหวัดอื่น ต่างจากภาคใต้ที่ภูเก็ตมีคะแนนกระโดดมาติด Top 5 ของประเทศ เป็นรองจาก นครปฐม กรุงเทพฯ นครนายก และสมุทรสาคร ภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดที่คะแนน ONET สูงสุดใน 3 ภาค 


มุมมองที่ 4 ด้านสาธารณสุขยังไม่ดีเท่าภาพรวมของประเทศ
แต่จังหวัดหลัก ๆ ใน 3 ภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ติด Top 5 จังหวัดที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยมากสุด รองจาก กรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครนายก 

มุมมองที่ 1 ถึง 4 สะท้อนจากเครื่องชี้ความเป็นอยู่ที่สำคัญของคนใน 3 ภาค (ปี 2564-66)  

เครื่องชี้บางส่วนที่ใช้ในการวิเคราะห์

หน่วย

ประเทศ

เหนือ

อีสาน

ใต้

1. ค่า PM 2.5
(ค่าเฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 66)

ไมโครกรัมต่อเมตร3

102.4

129.6

113.1

53.1

2. อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี (ปี 65)

องศาเซลเซียส

35.9

36.3

35.8

34.8

3. การแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน (ปี 64)

รายต่อประชากร 100,000 คน

89.2

69.8

57.7

111.2

4. เด็ก 0-5 ปีที่มีพัฒนาการสมวัย (ปี 64)

ร้อยละของจำนวนเด็ก 0-5 ปีทั้งหมด

82.6

85.3

85.1

80.3

5. คะแนนเฉลี่ยการทดสอบ ONET มัธยมศึกษาตอนปลาย (ปี 64)

ร้อยละของผลรวมของคะแนนการทดสอบรวม 5 วิชาต่อผลรวมของจำนวนผู้เข้าสอบ 5 วิชา

31.6

32.8

30.0

30.9

6. คนต่อเตียง (ปี 64)  

(ค่าน้อยสะท้อนว่ามีเตียงรองรับผู้ป่วยมาก ดังนั้น ค่ายิ่งน้อยยิ่งดี)

คนต่อเตียง

448

455

527

503

หมายเหตุ: กล่องสีเขียว หมายถึง ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศและภาคอื่น

ที่มา: The World Air Quality Project, Open Government Data of Thailand ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และฐานข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยทีมงานศึกษา

มุมมองที่ 5 โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดีเท่าภาพรวมของประเทศ โดยช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านพักอาศัย อาคาร สะพาน ถนน ที่เพิ่มขึ้นกระจุกอยู่ที่อีสานใต้ ตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีการขยายเส้นทางหลัก อาทิ ถนนทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว-เดชอุดม ซึ่งเป็นถนนสายหลักของอีสานใต้ และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และสายรอง สาย 226 เช่น ช่วงในเขตโคราช ช่วงบุรีรัมย์เข้าสุรินทร์ และช่วงเข้าศรีสะเกษ และเหนือบน (เช่น เชียงใหม่ เชียงราย) ตามการขยายตัวของที่อยู่อาศัย สำหรับทางใต้มีน้อยกว่าภาคอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ใต้มีสัดส่วนประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่าทุกภาคและสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยภูเก็ต มีสัดส่วนฯ มากถึง 96%  (อับดับ 1 ของประเทศ) เหนือและอีสานมีสัดส่วนเกือบ 80%

มุมมองที่ 5 สะท้อนจากพื้นที่ก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6 ปีที่ผ่านมา (% ของพื้นที่ทั้งหมดของแต่ละจังหวัด) และประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (% ของประชาชน) 

Thai regions

ที่มา: Dynamic World ของ Google ร่วมกับ World Resources Institute และฐานข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยทีมงานศึกษา

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละภูมิภาคมีจุดเด่นแตกต่างกัน คนใต้อยู่ท่ามกลางอากาศที่ดีมาก คนอีสานอุ่นใจด้านความปลอดภัย ลูกหลานของคนในภาคเหนือ อีสาน ใต้ สามารถเรียนในจังหวัดในภูมิภาคของตัวเองได้ และที่สำคัญพื้นที่ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น คงไม่แปลกใจว่าทำไมแรงงานที่กลับบ้านในช่วงโควิดจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะใช้ชีวิตทำงานที่บ้านเกิด ไม่กลับไปทำงานที่ในเมืองดังเช่นเคย

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์
ปริญดา สุลีสถิร

ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2566

[1] ผลสำรวจ nomadlist.com

[2] สถิติประชากรศาสตร์ประชากรและเคหะ พ.ศ.2564-65 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

[3] วิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดของ OECD ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ รายได้และการจ้างงาน การศึกษา สาธารณสุข ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน รวม 20 เครื่องชี้  ทั้งนี้ 1. การวิเคราะห์นี้ไม่ได้ใช้เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ของแต่ละด้านว่าดีกว่า/แย่กว่าเกณฑ์เพียงใด และ 2. ผู้ศึกษาเลือกเครื่องชี้หลัก ๆ มาแสดงในบทความนี้ ซึ่งจะเผยแพร่เป็นบทความในไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อไป